ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ เผยรายละเอียดการรักษาโควิด 19 แบบ ‘ผู้ป่วยนอก’


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่ว่า สธ. จะเพิ่มบริการการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 แบบ Out-Patient Department (OPD) หรือ การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.2565 เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทิศทางการป่วยของประเทศไทยสอดคล้องกับของทั่วโลก คือสถิติผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อจะน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา 

ทั้งนั้ หากดูข้อมูลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารักษาผ่านระบบ Home Isolation (HI) มี 25,519 ราย (56.36%) และ Community Isolation (CI) มี 2,002 ราย (3.86%) รวมถึงเตียงระดับที่ 1 มี 18,910 (36.10%) เหล่านี้ส่วนมากอยู่ใน Hospitel ของเอกชน และมีที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง 

อีกส่วนนึงคือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เตียงระดับที่ 2.1 ซึ่งต้องใช้ออกซิเจนในระดับน้อยมี 1,093 ราย (2.09%) และเตียงระดับ 2.2 มี 758 ราย (1.45%) ส่วนเตียงระดับ 3 มี 77 ราย (0.15%) จะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรวมแล้วมีประมาณ 4-5% ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมี 95-96%
 
“ชัดเจนว่ากว่า 90% ของผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่น่าจะสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ โดยให้การรักษาตามอาการ หรือผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย จากข้อมูลเหล่านี้กรมการแพทย์จึงคิดจะปรับรูปแบบกทารักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  ขณะนี้ผู้ติดเชื้อต่อวันที่ยืนยันโดยผลตรวจ RT-PCR มีกว่า 2 หมื่นราย และ Antigen Test-Kit (ATK) อีกกว่า 2 หมื่นราย โดยยังอยู่ในช่วงขาขั้นของการติดเชื้อซึ่งมีโอกาสที่จะสูงมากกว่านี้ จึงต้องคำนวณการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเช้าวันนี้ (28 ก.พ.65) กระทรวง สธ. ได้ลงมติเห็นชอบเตรียมการระบบคัดกรองเพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะ endemic โดยจะใช้การรักษา แบบ OPD มาเสริม 

ทั้งนี้ กรณีถ้ามีอาการของระบบทางเดินหายใจหรือมีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง ให้ประเมินอาการตัวเอง หากเข้าข่าย Suspected case หรือสงสัย กรณีสามารถตรวจ ATK ได้เองที่บ้าน ถ้าผลออกมาเป็นลบ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT หรือ Self Quarantine แต่ถ้าเป็นผลบวกให้โทร 1330 เพื่อประเมินความเสี่ยง หรือเดินทาง-โทรไปที่ ARI (คลินิคทางเดินหายใจ) หรือ PUI (คลินิคสงสัยสำหรับผู้ติดเชื้อ) Clinic ซึ่งจะมีอยู่ในทุกโรงพยาบาลโดยประเมินภาวะเสี่ยงได้เช่นกัน 

สำหรับภาวะเสี่ยงคือโรคประจำตัว เมื่อแพทย์ตรวจมีอาการไม่รุนแรงก็ให้เข้าระบบ HI, CI, Hospitel และ Hotel Isolation ที่พึ่งเพิ่มเข้ามา แต่หากมีอาการรุนแรงมาก มีภาวะเสี่ยงจะถูกคัดแยกไปที่โรงพยาบาล
 
ในส่วนของผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบ OPD และแยกกักตัวเองที่บ้านได้ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นมาตรการที่เสริมขึ้นมา โดยเรียกว่า Outpatient with Self Isolation โดยระบบการรักษาจะมีการติดตามอาการ 48 ชั่วโมง จากนั้นจะทำการประเมินอาการอีกครั้ง หากอาการดีขึ้นทุกอย่าง ก็จะให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้านต่อ
 
ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างการรักษาแบบ OPD ที่เพิ่มเข้ามากับ การกักตัวในระบบ HI คือ

1.ระบบ OPD การโทรติดตามอาการมีเพียงครั้งเดียวคือช่วง 48 ชั่วโมง เนื่องจากจะได้รับการคัดกรองแล้วว่าไม่มีความเสี่ยง ในขณะที่ระบบ HI จะโทรติดตามอาการทุกวัน อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านช่วง 48 ชั่วโมงไปแล้ว แต่ประชาชนยังสามารถติดต่อปรึกษาอาการผ่านไลน์ การโทร และแอปพลิเคชันได้ตลอดเวลา

2.ระบบ OPD จะไม่มีอุปกรณ์การตรวจประเมินให้เหมือนระบบ HI เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด ฯลฯ

3.จะไม่มีบริการอื่นๆ ให้ในระบบ OPD โดยจะไม่มีอาหารให้เหมือนกับในระบบ HI
 
นพ.สมศักดิ์ สรุปแผนการดำเนินการในขณะนี้ว่า 1. ดำเนินการและติดตามประเมินอาการรูปแบบการรักษาโควิดแบบ OPD และแยกกักตัวเองที่บ้าน 2. การขยายเตียง โดยลดจำนวนเตียงประเภท Non-COVID โดยที่ประชุมในการรักษาพยาบาลใน กทม. มีมติให้กรมการแพทย์ทำหนังสือถึงทุกเครือข่ายเมื่อ 10 วันที่แล้ว โดยขอให้ลดจำนวนเตียงประเภท Non-COVID ลง 15-20% อีกทั้งให้นำบุคคลการทางแพทย์ในส่วนนั้นมาดูแลผู้ป่วยโควิดในส่วนอื่นแทน ซึ่งหลังจากนี้ต้องปรังไปตามบริบทของการระบาด