ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือ กระทรวงต่างประเทศ-ดีอี-กมธ.สาธารณสุข ผลักดัน "Thailand Digital Health Pass" เอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองระบบการตรวจสอบจาก "สหภาพยุโรป" ช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางได้กว่า 60 ประเทศ-ดินแดน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒน์พันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 เรื่อง “การใช้ Digital Health Pass บนหมอพร้อม เพื่อการเดินทางในกลุ่มประเทศ EU”

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเปิดให้เดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 รวมถึงยังมีการเข้าประเทศผ่านระบบแซนด์บ็อกซ์และระบบกักตัว จึงต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 สหภาพยุโรป (EU) ได้มีมติยอมรับและขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย หรือ Thailand Digital Health Pass บนหมอพร้อม ให้มีความเท่าเทียมกับเอกสารรับรองของสหภาพยุโรป (EU Digital COVID Certificate :EU DCC)

ดังนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน จึงสามารถใช้เอกสารรับรองบน Thailand Digital Health Pass ของหมอพร้อม แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่ประเทศหรือดินแดนที่เข้าร่วมระบบการตรวจสอบเอกสารรับรองของ EU กว่า 60 ประเทศ/ดินแดน รวมถึงสามารถใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในประเทศหรือดินแดนเหล่านั้นได้ด้วย ซึ่ง สธ.ได้เปิดให้ประชาชนเริ่มทดสอบใช้งานระบบดังกล่าวได้แล้ว

"ต้องขอบคุณคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และผู้บริหารทั้ง 3 กระทรวง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องนี้จนประสบความสำเร็จ เชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความสะดวกจากการใช้งานระบบ Digital Health Pass และสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย" นายอนุทิน กล่าว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การเข้าร่วม EU DCC นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนที่ถือเอกสารรับรองฯ ของประเทศไทยแล้ว ยังจะช่วยให้ สธ.สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่ม EU และประเทศนอกกลุ่ม EU ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน EU DCC ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของไทย ร้านค้าหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถสแกนคิวอาร์โคดตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 ของนักเดินทางได้เช่นกัน

"เป็นการยกระดับระบบตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างไรก็ตามสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จึงยังคงต้องระมัดระวังสูงสุด ยึดมาตรการ VUCA คือ การฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา COVID Free Setting และการตรวจ ATK เพื่อช่วยป้องกันการแพร่และรับเชื้อ" นายสาธิต กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า เอกสารดิจิทัลเกี่ยวกับโควิด-19 ของ EU DCC ใน Thailand Digital Health Pass จะแสดงข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ข้อมูลพื้นฐานจำเป็นในการยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก อายุ สัญชาติ และหมายเลขหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในการเชื่อมโยงข้อมูลชื่อนามสกุลภาษาอังกฤษและหมายเลขหนังสือเดินทาง (passport number) ของผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของประเทศไทย

2. ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ประกอบด้วย 1) ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีอายุ 180 วัน นับจากวันที่รับเข็มล่าสุด 2) ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK เฉพาะรุ่นที่ EU รับรอง มีอายุ 7 วัน นับจากวันที่ตรวจล่าสุด และ 3) ข้อมูลการหายป่วยจากโควิด-19 มีอายุ 180 วัน นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย โดยแสดงในรูปแบบ QR Code ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) กำกับ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะอ่านได้เฉพาะแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาตามมาตรฐานของ EU เท่านั้น 

ขณะที่ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ให้มีสถานะเทียบเท่า EU Digital COVID Certificate แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างไทยและยุโรป รวมถึงความสามารถ ความพร้อม และมาตรฐานด้านดิจิทัลของไทย ทำให้ระบบของประเทศไทยเชื่อมโยงกับระบบเอกสารวัคซีน 60 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ และประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรอง 33 ประเทศ

"ไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนที่ได้รับการรับรองระบบนี้ อย่างไรก็ตามการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ จะมีความแตกต่างกันในเงื่อนไข ทั้งชนิดวัคซีนและชุดตรวจ ATK ที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปให้การยอมรับ จึงขอให้ตรวจสอบเงื่อนไขก่อนเดินทางทุกครั้ง" นายธานี กล่าว

ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒน์พันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้ร่วมพัฒนาระบบหลังบ้านกับ สธ. สำหรับออกเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ตามมาตรฐาน EU ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ได้นำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาพัฒนาระบบเอกสารรับรอง เป็นการขับเคลื่อน Digital Transformation ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ช่วยพัฒนามาตรฐานของข้อมูลและยกระดับระบบข้อมูลของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในอนาคต

สำหรับระบบเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้น ดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากหน่วยบริการสุขภาพที่ประชาชนเข้ารับบริการ มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์กำกับในเอกสารรับรองทุกฉบับ โดยใช้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure หรือ PKI) เพื่อเข้ารหัสลับในการลงลายมือชื่อ สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและป้องกันการปลอมแปลงได้ มีการจัดเก็บหลักฐานการออกเอกสารรับรองด้วยเทคโนโลยี Blockchain เพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA  

ในส่วนของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ระบบนี้มีความสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศในกลุ่ม EU และประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมระบบนี้ สามารถใช้ข้อมูลใน Thailand Digital Health Pass บนหมอพร้อม รวมถึงเอกสารรับรองที่ออกโดยจุดฉีดวัคซีน แสดงกับประเทศปลายทางเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องขอเอกสารรับรองอื่นๆ อีก ช่วยประหยัดเวลาและลดภาระของประชาชนในการขอเอกสารรับรอง

"ที่สำคัญประชาชนสามารถใช้งานระบบนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับการนำระบบไปใช้จริง (Go Live) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขจะสนับสนุนและติดตามการดำเนินการ รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในการใช้งานระบบอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้สามารถนำระบบไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นพ.เจตน์ กล่าว