ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดห้องปฏิบัติการให้บริการทดสอบ "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" ครบทุกรายการ ตามมาตรฐานสากล-มอก. เพิ่มความมั่นใจหน้ากากที่ผลิตภายในประเทศ


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้บริการทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ครบทุกรายการ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทย และมาตรฐานสากล (ASTM) เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน

ทั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศมีห้องปฏิบัติการอ้างอิงในประเทศที่รองรับการทดสอบมาตรฐานได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตามยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้ครั้งเดียว จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมตามมาตรฐาน มอก.

สำหรับรายการทดสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้เปิดให้บริการทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีหัวข้อคุณลักษณะ ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย เป็นการทดสอบเพื่อแสดงถึงความสามารถในการกรองอนุภาคของแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งมีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 3 ± 0.3 ไมครอน

2. ความแตกต่างของความดัน เป็นการวัดแรงต้านในการหายใจผ่านหน้ากากอนามัย เพื่อแสดงถึงความสะดวกในการหายใจ ค่าความแตกต่างของความดันยิ่งต่ำยิ่งทำให้หายใจได้ง่าย 3. ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน เป็นการทดสอบเพื่อแสดงถึงความสามารถในการกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน

4. การลามไฟ เป็นการทดสอบเพื่อประเมินความเร็ว ในการลามไฟ ซึ่งหน้ากากอนามัยที่มีความปลอดภัยจะต้องเผาไหม้ช้า (CLASS 1 ≥ 3.5 วินาที) 5. ความต้านของเหลวซึมผ่าน เป็นการทดสอบเพื่อแสดงถึงความสามารถในการป้องกันการซึมผ่านของเหลวจากชั้นนอกถึงชั้นในของหน้ากากอนามัย โดยใช้เลือดสังเคราะห์เป็นของเหลวในการทดสอบการซึมผ่าน

6. การระคายเคือง เป็นการทดสอบเพื่อตรวจการระคายเคืองทางผิวหนังของหน้ากากอนามัย 7. การแพ้ทางผิวหนัง เป็นการทดสอบเพื่อตรวจการกระตุ้นการเกิดการแพ้ทางผิวหนังของหน้ากากอนามัย

"ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียด การส่งตัวอย่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 02-589-9850-8 ต่อ 99954, 99955 และ 99419, 98482" นพ.ศุภกิจ กล่าว