ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่มีอัตราการแพร่กระจายที่สูงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักไปเมื่อปีที่แล้ว

ทว่าแม้สายพันธุ์โอมิครอนจะมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคอาจจะทำให้ผู้ป่วยอาการหนัก “มีไม่มาก” นั่นหมายความว่าผู้ป่วยส่วนมากยังเป็นกลุ่มอาการ “สีเขียว” ที่สามารถรักษาตนเองได้ที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home isolation : HI)

อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า การทำ HI นั้นยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่และมีความทุลักทุเลเป็นอย่างมาก แต่ทว่าเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยหนุนเสริมการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำให้ภาพรวมของการทำงานนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น และยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรได้ในระดับหนึ่ง

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ พญ.ชญาณัสม์ เอี่ยมวรพงษ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ และ พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ HI เมื่อปีผ่านมา ถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือดูแลผู้ป่วยโอมิครอนในขณะนี้อีกด้วย

ระบบยังไม่ครอบคุลม-ผู้ป่วยเองก็ไม่เข้าใจ

พญ.ชญาณัสม์ เล่าว่า สำหรับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุเริ่มนำระบบการดูแลรักษาตนเองที่บ้าน เข้ามาใช้เมื่องช่วงเดือน กรกฎาคม 2564 และในขณะนั้นการนำระบบดังกล่าวก็เพิ่งจะมีการนำเข้ามาใช้ในหน่วยบริการเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิขุใช้ระบบ Dietz covid tracker telemedicine ที่พัฒนาขึ้นโดย www.dietz.asia ช่วยให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวที่บ้าน Hospitel ระบบการรักษาตัวในชุมชน (Community isolation : CI)  หรือโรงพยาบาลสนามได้เข้าถึงการรักษา ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยติดตามอาการผ่านวิดีโอคอลได้แบบออนไลน์

มากไปกว่านั้นยังสามารถเชื่อมข้อมูลจากโรงพยาบาลดึงข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบได้อัตโนมัติ และช่วยให้โรงพยาบาลบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละวัน เช่น ระดับออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิ หรืออาการต่างๆ เข้าสู่ระบบและเชื่อมกลับไปยังโรงพยาบาล เพื่อใช้ประกอบเอกสารเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อีกด้วย

ทว่าด้วยความใหม่ของระบบทำให้ในช่วงแรกอาจจะยังเกิดปัญหาและบางฟังก์ชันของโปรแกรมที่เข้ามาสนับสนุนก็ยังไม่ครอบคลุมทำให้ยังต้อง “ใช้ไปพัฒนาไป” ซึ่งในตอนนั้นระบบ HI ศูนย์การแพทย์ฯ มีแพทย์เด็กเข้ามาช่วยดูเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ทางทีมผู้พัฒนาก็ได้มีการทำระบบที่สามารถดูได้เฉพาะเด็กขึ้นมาใหม่อย่างชัดเจนทำการดูแลผู้ป่วยสะดวกมากยิ่งขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกไม่ได้เกิดขึ้นกับฝั่งผู้ให้บริการเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผู้รับบริการด้วย เพราะผู้ป่วยเองก็ไม่เข้าใจว่าหากจะต้องเข้ารักษาในระบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไร

“คนไข้ก็อาจจะยังสับสนในขั้นตอนของการกรอกแบบฟอร์ม บางคนไม่เข้าใจว่าต้องกรอกอย่างไร บางคนกรอกผิดช่อง” พญ.ชญาณัสม์ ระบุ

ด้วยความไม่เข้าใจในระบบทำให้เจ้าหน้าที่รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ต้องแก้ปัญหาด้วยการ“อธิบาย” กันยกใหญ่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น

ทว่านอกเหนือไปการอธิบายแล้ว ก็ยังมีฟังก์ชันจากโปรแกรมของระบบที่ให้สามารถกรอกข้อมูลให้กับผู้ป่วยได้ และแน่นอนว่าการที่เจ้าหน้าที่สามารถกรอกข้อมูลให้กับผู้ป่วยได้นั้นจะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

“เราแก้ไขปัญหาด้วยการกรอกให้ โดยให้คนไข้ส่งภาพมา ซึ่งทางผู้พัฒนาระบบก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ เขาก็จะสร้างฟังก์ชันเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่กรอกให้ได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาต้องดูผู้ป่วยเยอะๆ เช่น ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก” พญ.ชญาณัสม์ กล่าว

ทำให้ในช่วงแรกของการทำ HI ทีมแพทย์ต้องทำงานควบคู่ไปกับทีมพัฒนาระบบเพื่อที่แพทย์จะได้สามารถบอกความต้องการของตนเองได้โดยมีฝ่ายเทคนิคคอยสนับสนุนและแก้ปัญหาให้ ทำให้ระบบเริ่มเข้าที่และพร้อมรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่การระบาด “เข้าสู่จุดพีก” ในช่วงเดือนสิงหาคมเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ในช่วงนั้นศูนย์การแพทย์ฯ ต้องดูแลผู้ป่วย HI ในระบบราว 1,000 ราย

ปฐมภูมิเข้มแข็ง-เทคโนโลยี ช่วยฝ่าวิกฤต

พญ.เสาวลักษณ์ เล่าว่า โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเริ่มทำระบบ HI ที่พัฒนาโดย www.dietz.asia ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นที่แรกในส่วนภูมิภาคนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้ยังพอมีเวลาเตรียมตัวราว 1 เดือนก่อนการระบาดในเดือนสิงหาคมจะเริ่มขึ้น

ขณะนั้นหากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีผลเป็นบวกก็จะมีการติดต่อไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือศูนย์แพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งหน่วยบริการดังกล่าวก็จะทำการคัดกรองผู้ป่วยแยกออกเป็นกลุ่มสี เช่น กลุ่มสีเขียว กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีแดง

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยและรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่ก็ต้องถามความสมัครใจผู้ป่วยว่าจะรับการรักษาด้วยระบบ HI หรือโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น ส่วนในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงก็จะมีการส่งผู้ป่วยเข้ามาแอดมิทเพื่อรักษาในโรงพยาบาลต่อไป

อย่างไรก็ดีภาพรวมในการทำงานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นจะประสานงานกันทั้งจังหวัด โดยจะมีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมไปถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หัวหน้าศูนย์ราชการต่างๆ คอยประชุมร่วมกันถึงทิศทางของจังหวัด เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ประเทศเราโชคดีที่สาธารณสุขมูลฐานเข้มแข็ง หน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง เราจึงได้เปรียบ ถ้ามีการทำงานประสานงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาล โดยมีการใช้เทคโนโลยีช่วย ทำให้ประเทศเราผ่านวิกฤตไปได้” พญ.เสาวลักษณ์ ระบุ

ขยายเกณฑ์รับผู้ป่วย HI - ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เมื่อยอดผู้ป่วยยังคงวิ่งสูงต่อเนื่อง

พญ.เสาวลักษณ์ เล่าว่า ในช่วงแรกของการทำระบบ HI โรงพยาบาลจะเลือกผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด เช่น มีอายุน้อยกว่า 60 ปี น้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัม มีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แต่ภายหลังผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและเตียงในโรงพยาบาลมีจำกัดแค่ 110 เตียง ซึ่งไม่พอรองรับผู้ป่วย ทำให้จำเป็นต้องขยายเกณฑ์การรับผู้ป่วยในระบบ HI ออกไป

สถานการณ์ในขณะนั้น โรงพยาบาลสนามก็ไม่สามารถรับไหว และก็ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะเข้าไปดูแล มากไปกว่านั้นยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเรือนจำบางแห่งอีกราว 2,000 ราย ทำให้เกิดการพูดคุยกันในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดว่าจะมีการขยายเกณฑ์รับผู้ป่วยเข้า HI ซึ่งตรงส่วนนี้ก็จะมีเทคโนโลยีคอยช่วยมอนิเตอร์ผู้ป่วยเพื่อแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

พญ.เสาวลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงจุดพีกของการแพร่ระบาดทำให้โรงพยาบาลต้องดูแลผู้ป่วยในระบบ HI วันละ 2,000 ราย โดยแพทย์ทั้งหมด 30 คน จะดูแลผู้ป่วยในสัดส่วน 1:100 นั่นหมายความว่าแพทย์ 1 คนจะต้องดูแลผู้ป่วย 100 คน จากเดิมที่วางไว้แค่ 1:50 เท่านั้น

“แต่เราก็มีระบบที่ดีในการมอนิเตอร์ เราโทรหาคนไข้ทุกคน แนะนำว่าต้องสแกน qr code ส่งข้อมูลอย่างไร ระบบที่พัฒนาโดย dietz จะดีตรงนี้เมื่อส่งข้อมูลมาจะขึ้นเป็นบอร์ดเป็นข้อมูลรวม

“ทำให้เราเห็นผู้ป่วย 40-50 คน ถ้าเกิดกรณีค่าออกซิเจนผิดปกติ ชีพจรเร็ว มีไข้ก็จะขึ้นแจ้งเตือนเป็นตัวสีแดง เราก็จะส่งต่อและให้แพทย์โทรถามอาการ ถ้าออกซิเจนต่ำกว่า 96% เราก็ต้องประสานงานกับรถโรงพยาบาลไปรับผู้ป่วย และประสานหาเตียงถ้าไม่มีในโรงพยาบาลก็ต้องหาเพื่อให้เขาปลอดภัยที่สุด” พญ.เสาวลักษณ์ ระบุ

เมื่อต้องทำงานแข่งกับเวลา ระบบที่ดีตั้งแต่ต้นทางยันปลายสายจึงสำคัญ

แม้ว่าจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิคอยช่วยคัดกรองอาการในเบื้องต้น แต่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาก็ยังทำการ “เอกซเรย์ปอด” ผู้ป่วยก่อนเข้ารักษาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่เรียกว่า “Happy Pneumonia” แม้ว่าผู้ป่วยมีภาวะปวดบวมแต่ก็ยังไม่มีอาการ ยังยิ้มได้ ค่าออกซิเจนไม่ดรอป ซึ่งการเอกซเรย์นั้นจะทำให้แพทย์สามารถแยกได้ตั้งแต่ก่อนเข้ารักษา และผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลเพื่อไม่ให้อาการทรุดลง

“ระบบเอกซเรย์โรงพยาบาลพัฒนาเอง แต่ก็มีจ้างจากที่อื่นด้วย มีอยู่วันหนึ่งต้องเอกซเรย์ปอดผู้ป่วย 800 ราย ประมาณเดือนสิงหาที่ขึ้นพีกอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเคสค้างด้วยต้องรวบคนไข้ หมอเอกซเรย์ก็มีอยู่ 3 คนมาช่วยอ่านฟิล์มหากพบปอดบวมก็จะสั่งยาให้ ซึ่งก็จะมีระบบส่งยาไปให้ที่บ้านโดยการผ่าน รพ.สต. ศูนย์แพทย์” พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

มากไปกว่านั้นผลเอกซเรย์ที่ได้จะขึ้นไปรวบอยู่บนหน้ากระดานข้อมูลทำให้แพทย์-พยาบาลสามารถเห็นและจับสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ และยังมีทีมผู้พัฒนา-ทีมเทคนิคคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดช่องโหว่ก็สามารถปิดได้ทัน นั่นทำให้การดูแลผู้ป่วยในระบบ HI ราว 2,000 รายต่อวันนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น แม้แต่กระทั่งปราการสุดท้ายนั่นก็คือการ “เบิกจ่าย” ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการเงินก็จะสามารถดึงข้อมูลยื่นเบิก E-claim ได้เช่นกัน

นั่นทำให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ เพราะหน้าที่ของแพทย์คือการดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ลดภาระของแพทย์ที่ต้องเตรียมเอกสารได้

“ถ้ามีการจัดระบบข้อมูล ที่ดีและเป็นระเบียบก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น ซึ่ง dietz ก็ช่วยเราจัดระบบข้อมูลตรงนี้ให้มีระเบียบ ทำให้เราแยกเคสหนักเคสเบา การทำงานกับโรคระบาดก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน” พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

หลักฐานไม่ครบ-เบิกจ่ายมีปัญหา

เมื่อการดูแลผู้ป่วยในระบบ HI ผ่านไปได้ แต่ทว่าศูนย์การแพทย์ฯ ยังต้องพบเจอกับปัญหาด่านสุดท้าย นั่นคือปัญหาเรื่องของการ “เบิกจ่าย”

พญ.ชญาณัสม์ อธิบายว่า บางครั้งหลักฐานที่จะต้องใช้เพื่อเคลมเบิกมีไม่ครบ เพราะในการรักษาต้องเว้นระยะห่างกับผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้เซ็นเอกสารทุกอย่าง เมื่อทาง สปสช. ลงมาตรวจสอบผู้ป่วยบางรายก็สับสนและไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องได้รับจากการดูแลผ่านระบบ HI ของโรงพยาบาลเรียกว่าอะไร

“บางทีคนไข้ก็ไม่รู้ว่าระบบที่รักษาอยู่เรียกว่า home isolation หรือบางคนก็บอกว่ามีหมอมาดูแลธรรมดา เขาก็ตอบว่าเขาไม่ได้รับ หรือบางกรณีโรงพยาบาลมีการฝากของไปที่อนามัย เขาก็จะบอกว่าเขาได้รับจากอนามัยไม่ได้ได้จากโรงพยาบาล ก็ทำให้การเบิกถูกตีกลับมาว่าโรงพยาบาลไม่ได้รักษา” พญ.ชญาณัสม์ ระบุ

ทว่าสุดท้ายแล้วศูนย์การแพทย์ฯ จึงต้องใช้วิธีการทำเอกสารขึ้นมาส่งให้กับผู้ป่วยอีกครั้ง มีรายละเอียดเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยได้เซ็นรับทราบเมื่อจบการรักษา ทำให้การเบิกจ่ายไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป รวมไปถึงเรื่องการส่งอาหารที่ในช่วงแรก หลักเกณฑ์การจ่ายค่าอาหารจะถูกรวมไปกับค่าดูแลผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับอาหารทำให้ศูนย์การแพทย์ฯ ไม่มีบันทึกจึงทำไม่สามารถเบิกเงินในส่วนนั้นได้

“ภายหลังก็มีการแยกค่าอาหารมา ซึ่งก็ดีขึ้น บางบ้านเขาก็ปฏิเสธจริงๆ ว่าไม่เอา เจ้าหน้าที่ก็ต้องตามไปให้เขาเซ็นว่าเขาไม่รับและบริจาค” พญ.ชญาณัสม์ ระบุ

เตรียมระบบ HI รับผู้ป่วย โอมิครอนระลอกใหม่

พญ.ชญาณัสม์ อธิบายว่า สำหรับความพร้อมของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุในขณะนี้ได้มีการเตรียมการพูดคุยตั้งแต่หลังปีใหม่ วอร์ดที่เคยปิดไปช่วงก่อนก็กลับมาเปิดอีกครั้งเต็มอัตรา เพราะเห็นได้จากสถานการณ์การระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้นก็ได้เตรียมกำลังคน บุคลากรทางการแพทย์เอาไว้รองรับผู้ป่วยในระบบ HI โดยในช่วงแรกจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 7 คนคอยหมุนเวียนกัน แต่เมื่อมีเคสผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นก็จะมีการวนแพทย์ทั้งโรงพยาบาลเข้ามาช่วย เพราะผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวทางการรักษา-การให้ยาที่ชัดเจน ซึ่งแพทย์หลายคนก็สามารถทำได้

“คิดว่าไม่มีปัญหาเพราะเรามีบทเรียนอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้เราสามารถดูผู้ป่วยได้ประมาณ 1 ต่อ 100 หรือ 1 ต่อ 200” พญ.ชญาณัสม์ ระบุ

สอดคล้องกับ พญ.เสาวลักษณ์ ที่ระบุว่า จากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ตอนนี้โรงพยาบาลกระนครศรีอยุธยาเตรียมศักยภาพที่จะดูแลผู้ป่วยในระบบ HI เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ราย จากเดิมที่รองรับ 2,000 ราย ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเบื้องต้นเตรียมไว้ที่ 45 เตียง แต่หากมีการระบาดเพิ่มขึ้นก็จะขยายออกไปเป็น 90 เตียง หรือ 130 เตียงตามลำดับ

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากรอบที่แล้วมีแพทย์ที่ดูแลอยู่ 30 คน ในขณะนี้ก็ได้มีการทำหนังสือขออนุญาตถึงองค์กรแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อขอระดมแพทย์ทั้งโรงพยาบาลมาช่วยกัน รวมไปถึงการพูดคุยแบ่งโซนส่งอาหารให้แก่ผู้ป่วยในจังหวัด อีกด้วย

“ตอนนี้นโยบายกระทรวงก็ออกมาว่าให้ใช้ HI เตรียมรับโอมิครอน เนื่องจากอาการไม่หนักแต่จะติดมากและเกิดเคสคนไข้ใหม่เยอะ เมื่อดูแล้วเตียงในโรงพยาบาลอาจจะไม่พอรับแน่นอน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้การดูแลผู้ป่วยหมู่มากได้เป็นอย่างดี” พญ.เสาวลักษณ์ ระบุ