ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้จะเปิดศักราชใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน แต่ทั่วโลกก็ต้องจำใจเปิดประตูรับ “แขกที่ไม่ได้เชิญ” อย่างโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่มีอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ “เดลต้า” ซึ่งเคยป่วนระบบสาธารณสุขทั่วโลกมาแล้ว

แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น และกราฟการติดเชื้อกำลังตั้งชัน แต่หากมองความรุนแรงของโรคนั้นยัง “น้อยกว่า” เดลต้า ซึ่งผลการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ประชากรส่วนมากได้รับวัคซีนแล้ว เมื่อพิจารณาจากภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากร แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินจากโอมิครอนลดลงราว 25-30% และลดความจำเป็นที่จะต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่า 1 วัน ลงไปได้ราว 40%

อย่างไรก็ตามคงไม่ควรชะล่าใจหรือรีบด่วนสรุป เพราะหากยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขได้ ฉะนั้นระบบการดูแลที่บ้าน (Home isolation) และระบบการดูแลในชุมชน (Community isolation) จึงเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ-อาการน้อยได้

แล้วระบบสาธารณสุขไทยในตอนนี้ เตรียมความพร้อมในการรับมือและดูแลผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด?

ยกระดับเตือนภัยขั้น 4 เมื่อ โอมิครอนทำไทยระบาดอีกระลอก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้ทำการเปรียบเทียบค่า R-naught (R0) ซึ่งเป็นค่าคำนวณบ่งชี้ความสามารถในการแพร่ระบาดที่ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนสามารถแพร่โรคต่อไปได้นั้น ค่า R ของสายพันธุ์โอมิครอนจะอยู่ที่ 8-15 นั่นหมายความว่าผู้ติดเชื้อ 1 รายจะสามารถแพร่โรคไปยังผู้อื่น (ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ และยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน) ได้ 8-15 คน ในขณะที่ค่า R ของสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่เพียง 6.5-8 เท่านั้น

จากความสามารถในการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดการติดเชื้อโควิด-19 รายวันในสหรัฐอเมริกา (ณ วันที่ 3 ม.ค. 2565) พุ่งสูงถึง 1 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในประวัติการณ์

สำหรับประเทศไทย โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้แพร่กระจายไปแล้ว 55 จังหวัด ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ระบุเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ว่าจากการคาดการณ์ของ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ระลอกที่ 5 ซึ่งมาเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้

เมื่อประเทศกำลังก้าวขาสู่การระบาดระลอกใหม่ รวมไปถึงยอดผู้ติดเชื้อแตะ 5,775 คน ในวันที่ 6 ม.ค. 2565 ทำให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายในวันเดียวกันว่า สธ. ยกระดับการเตือนภัยประชาชนจากระดับที่ 3 เป็นระดับที่ 4 โดยมีจังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 รายเพิ่มขึ้นเป็น 11 จังหวัด โดย ชลบุรี ยังคงเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ 769 ราย ตามด้วยสมุทรปราการ  484 ราย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 454 ราย

แม้จะเป็นไปตามการคาดการณ์ฉากทัศน์ที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มรวดเร็วเกินไปจนเป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุข

แม้ความรุนแรง “ยังน้อยแต่ไม่ควรชะล่าใจ

นพ.สมศักดิ์ ระบุไว้ว่า อาการของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่จะสามารถแพร่กระจายได้เร็วว่า ซึ่งจากการรักษาผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย จำนวน 100 ราย พบว่าครึ่งหนึ่งมีอาการ และอีกครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ซึ่งในจำนวน 100 รายนั้น มี 7 รายที่พบเชื้อลงปอด แต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และได้กลิ่นลดลง 2%

อย่างไรก็ดี นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ถึงโควิด-19 โอมิครอน กับ “5 เหตุผลที่ทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลง ไว้ว่า 1. การติดเชื้อในเด็กมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนมากอาการจะไม่รุนแรง รวมไปถึงมีอาการคล้านยหวัดหรือไม่มีอาการ ซึ่งอาการจะรุนแรงสูงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

2. ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงผู้สูงอายุ ทำให้อาการของโรคน้อยลง (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ระบุผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 – 4 ม.ค. 2565 มีจำนวน 51,312,938 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวน 46,180,074 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มีจำนวน 7,051,840 ราย)

3. ด้วยตัวไวรัสเอง การศึกษาในสถานการณ์จริง เช่น ในแอฟริกาใต้ปรับตัวแปรต่างๆ แล้ว โอมิครอนสร้างความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา 4. จากการศึกษาในเซลล์ทดลองไวรัส โอมิครอนชอบเยื่อบุเซลล์ทางเดินหายใจส่วนต้นมากกว่าเนื้อเยื่อถุงลมปอด เป็นเหตุผลให้ไวรัสลงปอดได้น้อยกว่า

5. ตามหลักวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน สิ่งมีชีวิตจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอด ไวรัสปรับตัวเข้าหาเซลล์เจ้าบ้านเพื่อความอยู่รอด มนุษย์ติดเชื้อแล้วก็มีภูมิต้านทาน ไวรัสก็พยายามปรับตัวให้อยู่กับเซลล์เจ้าถิ่นให้ได้ดีที่สุด ถ้าทำลายเซลล์เจ้าบ้านมากก็ไม่มีบ้านอยู่ เชื่อว่าไวรัสทางเดินหายใจหลายตัวในอดีตที่อุบัติขึ้นในระยะแรกก็ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค และปรับตัวเป็นโรคประจำถิ่น

นอกจากนี้ ยังเกิดการถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ว่าในเมื่อโอมิครอนแพร่กระจายและติดได้ง่าย ควรจะปล่อยให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จะดีกว่าการเกิดภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือไม่

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค สธ. ได้ระบุผ่านการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า การมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้นดีกว่าการเกิดภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ เพราะโอมิครอนเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ แม้อาการไม่รุนแรง-ไม่เสียชีวิต แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีภาวะ Long Covid เช่น ระบบหายใจ หรือระบบอื่นๆ ของร่างกายแตกต่างจากเดิม หรือความไม่แข็งแรงของสุขภาพในระยะยาวหรือไม่

เมื่อการระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ก็อาจทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ รองรับได้ไม่ทัน มากไปกว่านั้นแม้ว่าประชากรไทยจะได้รับวัคซีนกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด แต่ก็มีอีกหลายล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วทำให้อาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ดีในวันที่ 7 ม.ค. 2564 จะมีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่โดยมีวาระสำคัญ นั่นคือการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ การจำกัดจำนวนคน และการรวมกลุ่มทำกิจกรรม รวมไปถึงการอนุญาตการดื่มสุราในร้านอาหาร การปรับมาตรการป้องกันการควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มพิจารณาเปิดสถานบันเทิง แต่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในคลัสเตอร์ร้านอาหารที่เป็นกึ่งผับบาร์ และไม่ได้จัดการภายใต้มาตรการการป้องกัน Covid Free Setting

นับเป็นการตัดสินใจที่สำคัญว่าจะมีการเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะหรือไม่ รวมถึงการปรับมาตรการของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยแบบ Test&Go ที่มีการชะลอไปก่อนหน้า

เตรียม HI-CI-รพ.สนาม รับมือผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

นพ.สมศักดิ์ ระบุไว้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจอัตราการครองเตียง สามารถรองรับได้ 50,000 เตียง เฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีเตียงว่าง 25,000 เตียง ซึ่งหากเป็นไปตามการจำลองฉากทัศน์ที่การติดเชื้อจะสูงสุดที่ 30,000 ราย ก็จะมีเตียงเพียงพอในการรับมือ

อย่างไรก็ดี ยังรวมไปถึงแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อที่จะเน้นไปที่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation :HI) และระบบรักษาตัวในชุมชน (Community isolation :CI) เป็นด่านแรก หากผู้ป่วยมีอาการหนักก็จะส่งต่อเพื่อเข้ารักษาโรงพยาบาล

สอดคล้องกับ ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ตอนหนึ่ง โดยยืนยันว่า อว. ได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในสังกัด ให้พร้อมที่จะรับผู้ป่วยหนัก และเตรียมโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 47 แห่ง ใน 39 จังหวัดไว้แล้ว หากมีความจำเป็นจะต้องเปิดใช้

เช่นเดียวกันกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ได้เปิดเผยระหว่างการติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลสนามเลิดสิน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ระบุว่า สธ.เองได้เตรียมความพร้อมรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะมีโรงพยาบาลสนามดูแล หากอาการหนักจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก จะมีระบบ HI และ CI รองรับ รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและไม่กระทบกับระบบบริการทางด้านการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงพยาบาลสนามหลายแห่งที่ปิดไป ก็ได้ทยอยเตรียมความพร้อมให้เป็น CI หากมีความจำเป็นต้องยกระดับ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีพื้นฐานการดูแลอยู่แล้ว

นายอนุทิน ได้เปิดเผยอีกครั้งภายในวันเดียวกันว่า ต้องเฝ้าระวังติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระลอกนี้ต่อเนื่องอีกประมาณ 7-10 วัน จึงจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบ ยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ห้อง ICU ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มไม่มาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากการติดเชื้อยังมีอัตราเพิ่มขึ้นตามปกติจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว

“ด้านการรักษา สธ. มีมาตรฐานในการดูแล โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ หากผู้ป่วยไม่มีอาการ ขอความร่วมมือให้เข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation เพื่อสำรองเตียง เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก” นายอนุทิน ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นหากประชาชนที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผ่านชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แล้วพบว่ามีผลเป็นบวก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ระบุว่า ตามหลักเกณฑ์การให้บริการแล้วจะต้องเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน หรือ HI เพื่อติดตามและเฝ้าระวัง นอกจากป้องกันภาวะโรคที่อาจจะรุนแรงแล้วยังเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดอีกด้วย

สำหรับประชาชนที่พบว่าเป็นบวก สามารถเข้าสู่ระบบ HI ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 2. กรอกข้อมูลด้วยตนเอง ที่ลิงค์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI 3. Line สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ซึ่งเมื่อลงทะเบียนแล้ว นพ.จเด็จ อธิบายว่าเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานและจับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ภายใน 6 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น แต่หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมงขอให้โทรแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 อีก

ทว่าการดูแลด้วยตนเองที่บ้านไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการดูแล เพราะจะมีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางแพทย์ตามสถานพยาบาลที่ได้มีการจับคู่เอาไว้เบื้องต้น คอยประเมินอาการด้วยการวิดีโอคอลติดตามอาการวันละ 1 ครั้ง รวมไปถึงได้รับอุปกรณ์ เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ อาหาร 3 มื้อ

รวมถึงในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง ให้แจ้งสถานพยาบาลที่ดูแลเพื่อขอรับยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ และหากมีอาการแย่ลงให้แจ้งสถานพยาบาล เพื่อส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลต่อไป

“ขณะนี้เริ่มมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าหลังปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สปสช. จึงได้เตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับ ทั้งในส่วนการเพิ่มสายด่วน สปสช. 1330 เป็นจำนวน 3,000 คู่สาย การเพิ่มช่องทางระบบออนไลน์ที่สะดวกและรวดเร็วในการเข้าสู่การดูแลในระบบ Home Isolation ตามที่ได้ดำเนินการนี้” นพ.จเด็จกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กก็ได้มีการพูดคุยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ถึงมาตรการในการรองรับผู้ติดเชื้อใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้ให้คณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมที่จะรองรับผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยการซักซ้อมระบบ HI-CI โดยเน้นให้เป็นหน้าที่ส่วนราชการท้องถิ่นในการเตรียมการ และประสานงานกับระบบสาธารณสุขเพื่อเตรียมทรัพยากรในกรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มเติม

อ้างอิง
https://news.thaipbs.or.th/content/311358
https://www.bbc.com/thai/international-59764339
https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/6941447075897850
https://www.facebook.com/CMGrama/