ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นบริการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายปีให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิหลักประกัน ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลไว้ว่า ในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้จัดหมวดงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น

สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. ได้จัดหมวดหมู่สิทธิประโยชน์ออกเป็น “ตามช่วงวัย”

เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น “The Coverage” พูดคุยกับ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. ได้อธิบายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรจะได้รับ

แบ่งออกเป็น 1. สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 2. กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี 3. กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี 4. กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และ 5. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

หญิงตั้งครรภ์กับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ

นพ.กฤช อธิบายว่า สิทธิประโยชน์เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนมีครอบครัว ซึ่งหากผู้หญิงเกิดการคลื่นไส้อาเจียนก็สามารถไปตรวจหรือซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (Pregnancy Test) ก่อนก็ได้ แต่หากต้องการพบแพทย์ต้องไปพบที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้เป็นหลัก เมื่อไปถึงหน่วยบริการแพทย์ก็ทำการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง จะมีการแนะนำให้รับบริการการดูแลการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่าฝากครรภ์

อย่างไรก็ดี การดูแลบริการการตั้งครรภ์ในสิทธิประโยชน์ของบัตรทองนั้น กำหนดไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ทว่าในปีนี้ก็มีการขยายไปเป็น 8 ครั้ง หากเกินว่านั้นหน่วยบริการก็จะต้องอธิบายว่าถึงเหตุผลที่จะต้องให้บริการเกิน 8 ครั้งด้วย

นพ.กฤช อธิบายเพิ่มว่า สำหรับการดูแลการตั้งครรภ์ แพทย์และพยาบาลจะดูแลมารดาแบบพื้นฐาน เช่น การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจครรภ์ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เป็นต้น รวมไปถึงการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์จากประวัติของมารดา หากมีความเสี่ยงเกิดขึ้นก็จะทำให้ทราบว่า ความเสี่ยงดังกล่าวที่พบนั้นจะเปลี่ยนไปตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

นอกเหนือจากการตรวจร่างกายแล้ว หญิงตั้งครรภ์ยังจะได้รับบริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ซึ่งจะมีตั้งแต่การตรวจโปรตีนในปัสสาวะทุกครั้งที่มา เพื่อดูการติดเชื้อ หรือดูว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นหวาน หรือโรคอื่นๆ หรือไม่

มากไปกว่านั้นในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจพิเศษนั่นก็คือการอัลตร้าซาวด์ และมารดาจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย รวมไปถึงไวรัสตับอักเสบ บี ซิฟิลิส เอชไอวี และภาวะดาวน์ซินโดรมอีกด้วย เพราะทั้งหมดนั้นส่งผลถึงทารกในครรภ์ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลมารดาเพื่อป้องกันทารก

“การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิสก็ยังให้สิทธิแก่สามีด้วย ถ้าสามีและภรรยามีผลเป็นบวกทั้งคู่ก็จะต้องตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งก็จะได้สิทธิตรวจฮีโมโกลบิน ที่จะสามารถบอกได้ว่าปริมาณฮีโมโกลบินที่มีเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่ ซึ่งถ้าผลออกมาแล้วพบว่ายังเป็นบวกก็จะแสดงให้เห็นว่าเป็นคู่เสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดมามีแนวโน้มเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า หรือเป็นครรภ์น้ำจนเด็กเสียชีวิตในท้อง

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า ในกรณีที่พบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียก็จะสามารถเป็นตัวเลือกให้กับมารดาได้ว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยมีสิทธิประโยชน์ในการยุติการตั้งครรภ์รองรับ เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนครอบครัว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็แพทย์ก็จะมีคำแนะนำให้วินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยการเจาะน้ำคร่ำ เจาะในครรภ์มารดาเพื่อดูดเลือดที่สายสะดือ หรือตัดเยื่อในรก

ทว่าการที่จะยุติการตั้งครรภ์นั้นอายุครรภ์จะต้องไม่เกิน 20-24 สัปดาห์ เพราะหากเกิน 24 สัปดาห์ จะมีปัญหาทางด้านกฎหมาย

“การฝากครรภ์ครั้งแรก การตรวจหลายๆ อย่างจะสามารถตรวจได้ทันที ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานบริการ แต่จะยกเว้นการตรวจดาวน์ซินโดรม ซึ่งจะต้องรอให้มีอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ เพราะจะต้องทำการอัลตร้าซาวด์ด้วย ส่วนการตรวจครั้งที่ 2-3 นั้นก็จะเป็นการตรวจประเมินทั่วไป”  

นพ.กฤช ระบุต่อไปว่า เมื่อมารดามีอายุครรภ์ประมาณ 30 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจซิฟิลิส และเอชไอวีซ้ำ เพราะเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่เจอในการตรวจครั้งแรก หากแพทย์พบว่ามารดาเป็นซิฟิลิสก็จะต้องรีบให้การดูแลทั้งมารดา และทารกในครรภ์ทันที

เพราะในช่วงแรกหากตรวจภรรยาแล้วพบยังไงสามีก็ต้องเป็น อย่างไรก็ดีก็จะต้องประเมินทารกหลังคลอด เพราะแพทย์ก็ยังต้องระมัดระวัง และถ้ามีอาการแพทย์ก็จะต้องรักษาเด็กทันทีตั้งแต่แรกเกิด

สำหรับมารดาก็จะมีสิทธิประโยชน์ในการดูแลช่องปากด้วยเช่นกัน ในกรณีที่มารดามีหินปูน-หินน้ำลายก็จะได้รับการขุด หรือขัด เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อการติดเชื้อ และการเจริญเติบโตของเด็กได้

ในส่วนของสิทธิประโยชน์เรื่องยานั้น ก็จะให้เป็นกรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และไอโอดีน ซึ่งยาดังกล่าวนี้จะแยกหรือให้รวมกันในชื่อยาไตรเฟอร์ดีน (Triferdine) ก็ได้ ซึ่งมารดาจะได้รับยาดังกล่าวตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเม็ดเลือดให้กับมารดา และเพิ่มสารไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กทารก รวมไปถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่จะทำการฉีดให้เมื่อมารดามีอายุครรภ์เกิน 4 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นการป้องกันภาวะแท้ง นอกจากนี้ก็จะฉีดวัคซีนบาดทะยักเพื่อป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด

“วัคซีนบาดทะยักถ้าไม่เคยฉีดมาในระยะ 10 ปี หรือไม่เคยฉีดเลยก็จะฉีดให้ 3 เข็มจนครบ หากฉีดมาบ้างแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าควรฉีด 1-2 เข็มตามดุลพินิจ

นพ.กฤช ระบุถึงสิทธิประโยชน์หลังคลอดว่า มารดาจะได้รับการดูแลหลังคลอดประมาณ 3 ครั้ง ครั้งแรกก็จะอยู่ที่ประมาณ 7 วัน หรือระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อดูแผล ดูน้ำคาวปลา ครั้งที่ 2 ก็จะถัดไปอีก 7-14 วัน หลังจากนั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ก็จะเป็นการดูแลครั้งที่ 3 ซึ่งก็จะได้รับคำแนะนำในการดูแลและวางแผนครอบครัว ส่วนก็ยังคงจะได้รับยาไตรเฟอร์ลีน 3 ชนิด ไปจนถึง 6 เดือนเพื่อการให้นมบุตร

สิ่งที่เด็กเล็กได้รับ ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงอายุ 5 ปี

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า ในกลุ่มของเด็กแรกเกิดนั้น เมื่อทารกคลอดออกมาก็ได้รับการเจาะปลายเท้า เพื่อตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟีนิลคีโตนูเรีย แต่ต่อไปก็จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับการตรวจ 20 โรคหายาก ซึ่งในขณะนี้ก็จะให้เฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด หรือมารดาป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่าง    

มากไปกว่านั้น ก็จะมีการตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับกลุ่มเสี่ยงในทารกแรกเกิด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ว่าก็จะประกอบด้วย ประวัติคนในครอบครัวมีบุตรที่สูญเสียการได้ยิน คนที่ดูแลมีปัญหาเรื่องการพูด-การได้ยินที่ล่าช้า ทารกอยู่ในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) สำหรับเด็กมากกว่า 5 วัน มารดาเป็นหัดเยอรมัน หรือติดซิฟิลิส หรือทารกที่เกิดมาพบว่าเป็นท้าวแสนปม เป็นต้น

ซึ่งจำนวนก็ไม่ค่อยเยอะจึงทำเฉพาะกับเด็กกลุ่มเสี่ยงก่อน เมื่อพบว่ามีเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินก็จะได้รับการฝังประสาทหูเทียม ส่วนที่ต้องตรวจการคัดกรองการได้ยินนั้น ก็เพราะมีผลต่อการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก

อย่างไรก็ดี สิทธิประโยชน์ก็จะครอบคลุมถึงการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (RV) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ทว่าการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็จะเป็นการให้แบบมีเงื่อนไขนั่นก็คือให้ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี หากมากกว่า 3 ปีนั้นก็จะเป็นการให้ในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

ผู้ปกครองก็ต้องพาเด็กไปตรวจตามสิทธิ หรือตามที่หน่วยบริการนัด อย่างเช่น วัคซีนก็ควรจะต้องฉีดไม่อย่างนั้นก็จะขาด แม้ขาดแล้วจะไปเริ่มต้นใหม่ก็ยังได้อยู่ แต่ภูมิคุ้มกันอาจจะต่ำลง โปรแกรมที่เขากำหนดมาให้ก็เพราะต้องการให้เกิดความสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

สำหรับกลุ่มเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ตามสิทธิประโยชน์ก็จะให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กไปจนถึงอายุ 12 ปี เนื่องจากเด็กไทยมีภาวะซีดเป็นจำนวนมาก หากอายุเกิด 12 ปี ไปแล้วนั้นก็จะให้เฉพาะแค่เด็กผู้หญิงอย่างเดียว

ซึ่งจะต้องรับบริการที่หน่วยบริการประจำ เนื่องจากยังไม่ได้เป็น Free Schedule แต่ถ้าในอนาคตมีร้านขายยาก็อาจจะให้รับที่ร้านขายยาได้ นอกจากนี้ก็ยังมีสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจ lab ด้วย พอประมาณช่วงอายุ 6 เดือน – 1 ปี ก็จะตรวจช่องปาก และก็เริ่มให้ฟลูออไรด์ตามสิทธิประโยชน์

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า เมื่อเด็กอายุ 9 เดือน ตามสิทธิประโยชน์ก็จะมีการตรวจคัดกรองพัฒนาการ เพื่อดูว่าเด็กนั้นสามารถทำอะไรหรือทำอะไรไม่ได้บ้างไปจนถึงอายุ 42 เดือน พอถึงช่วงอายุ 3-12 ปี ก็จะให้สิทธิในการคัดกรองสายตา หากมีสายตาหรือการมองเห็นที่ผิดปกติเด็กก็จะได้รับแว่นตาซึ่งตรงนี้ก็จะอยู่ในสิทธิประโยชน์เช่นกัน

เรื่องการได้ยิน เรื่องสายตาจำเป็นต่อพัฒนาการเด็ก ถ้าเด็กมองเห็นไม่ชัด เขาก็จะคิดว่าความคมชัดเหล่านั้นเป็นปกติ เด็กอาจจะไม่รู้ว่าปกติคืออะไร ฉะนั้นจึงต้องมีการคัดกรอง

มากไปกว่านั้น เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาที่เรียกว่าตาขี้เกียจ หมายถึงตาจะเขออกออกไปในด้านใดด้านหนึ่ง หากไม่ได้รับการดูแลในอนาคตก็ตาข้างนั้นก็จะสูญเสียการมองเห็น เนื่องจากไม่ได้ถูกใช้ ซึ่งการรักษาบางอย่างสามารถทำได้ด้วยการใส่แว่นตาเพื่อดึงสายตาให้กลับมา

สิทธิประโยชน์สำหรับเด็กโต วัยรุ่น

นพ.กฤช ระบุต่อไปถึงสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มเด็กโตและเด็กวัยรุ่นว่า จะมีวัคซีนให้ตามช่วงวัย แต่ที่มีเพิ่มขึ้นมานั้นก็คือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเฮชพีวี (HPV) ที่จะให้ช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11-12 ปี โดยหน่วยบริการจะเข้าไปฉีดให้ที่สถานศึกษา เพราะการเข้าถึงเด็กทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากหากต้องมารับบริการที่สถานบริการนั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าจะพามาฉีดหรือไม่

อย่างไรก็ดี หากผู้ปกครองคนใดที่มีลูกอายุ 11-12 ปี และขาดเรียนในวันนี้มีการฉีดวัคซีน ก็สามารถเข้ามาขอรับบริการที่สถานพยาบาลได้

นพ.กฤช อธิบายว่า สำหรับกลุ่มวัยรุ่นก็จะมีสิทธิประโยชน์สำหรับการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องเหล้า-บุหรี่-สารเสพติด และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ รวมไปถึงมีการประเมินเรื่องการเจริญเติบโต หรือดัชนีมวลกาย และสำหรับผู้หญิงอายุ 6-24 ปี หรือเมื่อเริ่มมีประจำเดือน ก็จะมีสิทธิประโยชน์เพื่อตรวจภาวะโลหิตจางเพื่อดูภาวะซีดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี หากไม่ได้มีภาวะซีดก็จะได้เป็นยาเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้จ่ายเป็นบริการเฉพาะ แต่จะจัดเป็นสิทธิประโยชน์ซึ่งก็อยู่ที่หน่วยบริการช่วยแนะนำ แต่ทว่าก็สามารถขอตรวจกับหน่วยบริการประจำได้

ช่องปากก็มีการเคลือบฟลูออไรด์-อุดหลุมร่องฟัน ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันฟันผุในเด็กและป้องกันช่องปาก

นพ.กฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มวัยรุ่นอาจจะยังไม่สิทธิประโยชน์อย่างชัดเจนและเป็นรูปประธรรมแต่จะเน้นเป็นการให้ความรู้มากกว่าการคัดกรอง แต่ในสิทธิประโยชน์ที่เขียนกว้างๆ เอาไว้นั้น ประเด็นก็จะขึ้นอยู่กับทางผู้ให้บริการว่าจะทำความเข้าใจกับเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนรู้ ท้าทาย และอยากลองได้อย่างไร เพื่อให้มีความรอบรู้ทางสุขภาพในการดูแลตนเอง

สำหรับอีกสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มวัยรุ่นจะได้รับ นั่นคือเรื่องของ “การจัดการการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” เพื่อเป็นทางออก ซึ่งก่อนที่จะเกิดการทำแท้งก็จะมีการอัลตร้าซาวด์เพื่อเป็นตัวเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อ หรือจะยุติการตั้งครรภ์

เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องหาทางออกให้ เพราะถ้าไม่หาทางออกใครจะเป็นคนดูแล

หากเลือกยุติการตั้งครรภ์ ก็จะมีบริการคุมกำเนิดให้ภายหลัง แต่ในกรณีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ปรารถนาจะคุมกำเนิดก็จะมีสิทธิประโยชน์ในการคุมกำเนิดทุกประเภท แต่หากอายุ 20 ปีขึ้นไปก็จะให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการประจำได้ แต่ทว่าหน่วยบริการที่ดูแลเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจจะยังมีน้อย ซึ่งก็อาจจะต้องหาเครือข่ายในการส่งต่อ

ผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

นพ.กฤช เล่าต่อไปว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน และไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่จะมีการตรวจคัดกรองความดัน-เบาหวาน-ไวรัสเอชพีวี และคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้แก่กลุ่มที่อายุ 50-70 ปี รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม โดยการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงเบียนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

“ซึ่งก็จะให้สิทธิทายาทสายตรงในการตรวจยีน รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป็บสเมียร์ (Pap smear) หรือ HPV DNA Test ในกรณีที่อายุ 30 ขึ้นไป ซึ่งบางส่วนก็รับทราบว่ามีการตรวจเพียงแต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง จะเป็นการตรวจ 1 ครั้งทุก 5 ปี

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นพ.กฤช อธิบายว่า สิทธิประโยชน์จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มวันผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะมีการตรวจคัดกรองเบาหวาน-มะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ที่มีอายุ 60-70 ปี เป็นต้น

เพราะผู้สูงอายุในส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว และไปที่หน่วยบริการประจำอยู่แล้ว ซึ่งในกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ในช่วงการรอเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในขณะนี้จะเป็นการแนะนำมากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ไปตรวจโรค การแนะนำอาหาร การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น