ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในเวลานี้ สถานการณ์ของโควิด-19ไม่มีอะไรจะน่าจับตามากไปกว่าการอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” (Omicron) ที่กำลังแพร่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลก

ณ เวลานี้ มีประเทศกว่า 68 ประเทศแล้วที่มีรายงานพบการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ และทุกประเทศทั่วโลกก็ได้ออกมาตรการที่จะควบคุมและป้องกันไม่ให้โอมิครอนระบาด รวมถึงประเทศไทยด้วย

ความไม่รู้มักจะนำมาซึ่งความกลัว ฉะนั้นมาหาคำตอบไปพร้อมกันว่า แวดวงวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขรู้และไม่รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโควิด-19สายพันธุ์ใหม่นี้ และเราะจะสามารถเตรียมการรับมือมันได้อย่างไร

อะไรคือ “โอมิครอน”

โควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน หรือ SARS-CoV-2 variant: B.1.1.529. คือเชื้อไวรัสวิด-19 ที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อสายพันธุ์เดิมที่ระบาดอยู่ก่อนแล้วในภูมิภาคอัฟริกา โดยองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานเรื่องการมีอยู่ของเชื้อนี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 และต่อมา องค์การอนามัยโลกก็ได้ทำการเพิ่ม “โอมิครอน” ให้อยู่ในบัญชี “สายพันธุ์ที่ต้องกังวล” เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ต่อจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “อัลฟ่า”, “เบต้า”, ”แกมม่า”, และ “เดลต้า” หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศอัฟริกาใต้และใกล้เคียงพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

จากการนำ “Spike protein” ของโอมิครอนมาทำการตรวจสอบ ทำให้พบว่าการกลายพันธุ์ของมันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างมาก โอมิครอนนั้นมีวิวัฒนาการก้าวกระโดดไปไกลกว่าที่ “เดลต้า” เคยมีถึงสิบเท่า และนั่นทำให้โอมิครอนมีความสามารถต่างจากเชื้อที่ระบาดอยู่เดิมแล้วมากมาย เช่น สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ ทนทานต่อภูมิคุ้มกันสูง ติดเชื้อได้ง่าย ตรวจพบได้ยากกว่าเดิม

ที่สำคัญก็คือ spike protein ของโอมิครอนได้ทำการ “ลบ” ส่วนหนึ่งของโครงสร้างโปรตีนในตัวมันเอง ทำให้มันสามารถที่จะหลบและทนทานต่อการปกป้องร่างกายโดยวัคซีนได้

ด้วยความสามารถทั้งหมดนี้เองที่ทำให้มีรายงานจากนักวิทยาศาสตร์ในอัฟริกาใต้ได้เผยว่า โอมิครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่มากกว่าเดิม และยังสามารถที่จะผ่านภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการติดเชื้อครั้งก่อนหน้า ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีกครั้งได้ด้วย

ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากมีการรายงานการพบโอมิครอน อัฟริกาใต้มียอดผู้ติดเชื้อเฉพาะโอมิครอนพุ่งสูงขึ้นเป็น 2,756 ราย (ตัวเลขระหว่าง 24 พ.ย. – 30 พ.ย.) และในเวลานี้ก็มีการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั่วโลกแล้วกว่า 7,168 ราย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้รับการยืนยันถึงความสามารถในการแพร่เชื้อที่สูง แต่กลับกัน โอมิครอนดูเหมือนจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่น้อยกว่า หน่วยงานสาธารณสุขในอัฟริกาใต้ได้รายงานว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอนนั้นมีอาการรุนแรงน้อยกว่าที่เคยเกิดกับผู้ติดเชื้อเดลต้าเป็นอย่างมาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลัก ๆ คือ ไอ เหนื่อยอ่อน ปวดเมื่อยเนื้อตัว และปวดหัวเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ ณ เวลานี้ ยังไม่มีการรายงานของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโอมิครอน

นั่นจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ออกมายืนยันว่า โอมิครอนจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา

หนึ่งในนั้นคือ “แอนโธนี เฟาซี” หัวหน้าที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ได้เปิดเผยว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่ทางการสหรัฐอเมริกา โอมิครอนมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง แต่กระนั้นก็อย่าได้วางใจจนกว่าผลการศึกษาทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามถ้าโอมิครอนเป็นจริงอย่างที่คาดการณ์ ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีของสถานการณ์โควิดโลก

ข้อสันนิษฐานการกลายพันธุ์

ประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องพึงสังเกตในกรณีการระบาดของโอมิครอน นั่นก็คือ สัดส่วนการได้รับวัคซีนมีผลมากน้อยเพียงใดต่อปัจจัยที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และระบาด โดยเฉพาะในอัฟริกาใต้ ประเทศต้นตอของโอมิครอน

สถิติการได้รับวัคซีนในอัฟริกาใต้พบว่า จากสัดส่วนประชากร 100 คน มีเพียง 42.1 คนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และถ้าขยับไปดูเพื่อนบ้านที่พบเจอการระบาดของโอมิครอนเช่นเดียวกันอย่างนามิเบีย จะพบว่ามีเพียง 25.1 คนต่อ 100 ที่ได้รับวัคซีน

เทียบกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีน 135.1 ต่อ 100 คน (หมายความว่ามีวัคซีนเกินกว่าสัดส่วนที่ต้องการ) จะเห็นได้ว่ามีความต่างอยู่มาก

การมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนน้อย จะส่งผลสำคัญต่อการกลายพันธุ์เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันได้รับเชื้อ ร่างกายจะไม่มีกลใกในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา และกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ เชื้อจะเรียนรู้และทำความคุ้นเคยต่อภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอในร่ายกาย ส่งผลดีต่อการพัฒนากลายพันธุ์ให้อันตรายมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่ต่ำ ก็ยังส่งผลดีต่อการแพร่กระจายของเชื้ออีกด้วย เพราะเมื่อขาดภูมิคุ้มกันในปริมาณที่เพียงพอ ก็สามารถที่จะติดเชื้อได้ง่าย และยิ่งทำให้การแพร่ระบาดกระจายออกไปในวงกว้าง ที่สำคัญคือเชื้อก็จะได้โอกาสในการพัฒนากลายพันธุ์มากขึ้นอีกด้วย

นี่จึงอาจเป็นคำตอบของปริศนาที่สงสัยกันมาอย่างยาวนานว่า เพราะเหตุใดโควิด-19ถึงมักจะแพร่ระบาดอย่างหนักและกลายพันธุ์จากกาฬทวีป

วัคซีนคือทางออกที่ดีที่สุด

จนถึงตอนนี้ องค์ความรู้ที่โลกมีเกี่ยวกับโอมิครอนนั้นยังนับว่ามีไม่มากนัก แม้เบื้องต้นจะรับรู้ได้ถึงสภาพเบื้องต้นของมัน แต่คำถามสำคัญอย่าง “เราจะป้องกันมันได้อย่างไร?” ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัด

นักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น ศ.ซาราห์ กิลเบิร์ท ผู้ร่วมคิดค้นวิจัยวัคซีน Oxford-AstraZeneca ได้กล่าวในการบรรยายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า วัคซีนที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อการป้องกัน เพราะการกลายพันธุ์ของโอมิครอนทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะป้องกันทั้งการติดเชื้อและอาการป่วยไม่ได้เลย วัคซีนรวมถึงยายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุกคนอยู่

จากผลการศึกษาในอัฟริกาใต้พบว่า วัคซีน Pfizer–BioNTech นั้นมีประสิทธิภาพเพียง 22.5% เท่านั้นในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการป้องการอาการเจ็บป่วยรุนแรง  ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานการศึกษาจากอิสราเอลที่ได้ผลตรงกัน นั่นก็คือ วัคซีน Pfizer–BioNTech สองโดสนั้นไม่เพียงพอต่อการป้องกันโอมิครอน

อย่างไรก็ตาม ก็มีการค้นพบว่า ถ้าได้รับวัคซีน booster เป็นเข็มที่สาม ไม่ว่าจะเป็น Pfizer–BioNTech หรือ Oxford-AstraZeneca จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโอมิครอนกลับมาเป็น 75% ได้

ศาสตราจารย์ อเล็กซ์ ซิกัล นักไวรัสวิทยาจาก Africa Health Research Institute กล่าว่า แม้โอมิครอนจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ แต่ว่าความสามารถนี้ของมันไม่ได้เป็นความสามารถที่สมบูรณ์ ดังนั้น ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนเข็มที่สามน่าจะเพียงพอต่อการป้องกัน

ด้าน ดอกเตอร์ ไมค์ ไรอัน เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลกก็ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ยังไม่มีสัญญาณหรือข้อมูลใดๆ บ่งบอกว่าโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอนจะหลบหลีกวัคซีนได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจริง

“เรามีวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่พิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้ผลกับทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา ในแง่ของการป้องกันการเจ็บป่วยตั้งแต่เบาถึงหนัก และก็ไม่มีเหตุผลใดในเวลานี้ที่จะเชื่อว่าจะด้อยประสิทธิภาพลง” ดอกเตอร์ ไรอัน กล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้ในเวลานี้ หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายในการเร่งให้ประชาชนได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อที่จะเร่งเสริมภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับโอมิครอนได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ว่า จะลดระยะเวลาการฉีดเข็ม 3 จากเดิม 4-6 เดือนเปลี่ยนเป็น 3 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน สามารถที่จะออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างปลอดภัย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่ติดภายในประเทศ พบเพียงแค่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย และประเทศไทยยังได้เพิ่มมาตรการต่อผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรจากทวีปแอฟริกา โดยมีการเพิ่มจำนวนวันกักตัว วันคุมไว้สังเกตและการห้ามเข้าประเทศ และต้องตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง วันที่ 0-1 , 5-6 , 12-13

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือเรื่องราวล่าสุดของ “โอมิครอน” ที่โลกรู้ ในอนาคต ทิศทางของเชื้อสายพันธุ์นี้จะเป็นอย่างไร โลกจะรับมือมันด้วยวิธีไหน ขอให้ติดตามกันต่อไป

อ้างอิง
https://www.ft.com/content/42c5ff3d-e676-4076-9b9f-7243a00cba5e
https://www.sciencefocus.com/news/omicron-covid-variant/
https://www.who.int/news/item/26-11-2021-classification-of-omicron-(b.1.1.529)-sars-cov-2-variant-of-concern
https://www.theguardian.com/world/2021/dec/04/who-says-no-deaths-reported-from-omicron-yet-as-covid-variant-spreads
https://www.bbc.com/news/59462647
https://www.bbc.com/news/health-59615005
https://www.bbc.com/news/world-59573037
https://www.timesofisrael.com/israeli-study-finds-2-pfizer-shots-fail-to-neutralize-omicron-but-booster-effective/
https://time.com/6127710/omicron-pfizer/
https://www.dailynews.co.th/news/566657/