ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ผ่านมา มีความเข้าใจผิดอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับโควิด-19 นั่นคือความเชื่อที่ว่า “เด็ก” จะไม่อ่อนไหวและติดเชื้อไวรัสนี้ได้ยากกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป เนื่องมาจากภูมิคุ้มกันแข็งแรงกว่า

แต่รายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างมีโอกาสติดเชื้อ “เท่าๆ กัน” แต่ในเรื่องของอาการเจ็บป่วย เด็กจะมีโอกาสที่เกิดอาการเจ็บป่วยน้อยกว่า

งานวิจัยยังระบุด้วยว่า มีโอกาสถึง 52% ที่เมื่อมีการติดเชื้อกับหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว สมาชิกอย่างน้อยอีกหนึ่งรายจะติดเชื้อตามไปด้วย

ศูนย์ป้องกันและควบโรค สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ University of Utah Health, Columbia University, Marshfield Virology Laboratory, และ Abt Associates บรรดานักวิจัยได้ใช้วิธีการ Coronavirus Household Evaluation and Respiratory Testing (C-HEaRT) เป็นฐานของงานชิ้นนี้

คริสติน่า โพรุซนิก หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่า บ่อยครั้ง เรามักจะคิดว่าเด็กไม่ติดเชื้อหรือไม่ป่วย เพราะพวกเขาไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วพวกเขาติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อได้อย่างเช่นคนทั่วไป

ในระยะแรกเริ่มของการระบาด รายงานจำนวนมากได้ให้ข้อมูลว่ามีเด็กจำนวนน้อยมากที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่รายงานเหล่านั้นมีช่องโหว่ใหญ่ นั่นก็คือเกิดความเชื่อกันว่าเด็กนั้นติดเชื้อไวรัสได้ยากกว่า และเอาเข้าจริงแล้วเมื่อเด็กไม่แสดงอาการเจ็บป่วย ทำให้พวกเขาไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อในเด็กเหล่านั้น ซึ่งทั้งหมดทำให้รายงานระบุว่าเด็กเป็นส่วนน้อยของสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจเรื่องของการติดเชื้อให้มากขึ้น ทีมวิจิจัยจึงศึกษากลุ่มตัวอย่าง 310 ครัวเรือนที่มีเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 17 ปี อย่างน้อยหนึ่งคน ในพื้นที่ยูทาห์และนิวยอร์ก ซึ่งในทุกสัปดาห์ แต่ละครัวเรือนจะเข้าทำการตรวจ molecular testing (PCR) และตอบแบบสำรวจอาการเป็นประจำ โดยเฉลี่ยทั้งหมดเป็นเวลาทั้งสิ้น 17สัปดาห์ กินเวลาตั้งแต่ กันยายน 2563 ถึง เมษายน 2564 ก่อนการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

ผลสรุปที่ได้จากงานวิจัย คือ

  • เด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราการติดเชื้อเท่าๆ กัน
  • ในแต่ละกลุ่มอายุของเด็ก (แรกเกิดถึง 4 ปี : 5-11 ปี : 12-17ปี) มีอัตราการติดเชื้อใกล้เคียงกัน อยู่ระหว่าง 4.4 – 6.3 รายใน 1,000 คน ต่อสัปดาห์
  • มีเพียงแค่ราวๆ 50% ของเด็กที่ติดเชื้อเท่านั้นที่จะพบอาการเจ็บป่วยลักษณะเดียวกับ 88% ของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ
  • ถ้าครัวเรือนไหนมีผู้ติดเชื้อแล้วหนึ่งคน มีโอกาสโดยเฉลี่ย 52% ที่จะเกิดการแพร่เชื้อให้กับคนครัวเรือนอย่างน้อยอีกหนึ่งคน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังต้องศึกษาต่อถึงตัวแปรอื่นๆ เช่นความหนาแน่นภายในครัวเรือน ช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และตัวแปรที่มีลักษณะเฉพาะตามแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญคือ อัตราความเสี่ยงและการติดเชื้ออาจจะแตกต่างกันออกไปในพื้นที่อื่นๆ เพราะพฤติกรรมการระแวดระวังเชื้อของผู้คนในแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ เด็กจำนวนมากที่จริงๆ แล้วติดเชื้อมักตรวจไม่พบ ซึ่งทำให้ต้องเฝ้าระวังประชากรที่เป็นเด็กอย่างมากเพื่อธำรงไว้ศึกษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของผู้คน

โพรุซนิก ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “อย่างน้อยที่สุดจนถึงช่วงเวลาที่เด็กๆ สามารถเข้ารับวัคซีน พวกเขาจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใส่หน้ากากเอาไว้เมื่ออยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และที่สำคัญก็คือ ถ้าเด็กๆ มีอาการแม้เพียงเล็กน้อย อย่าให้พวกเขาออกจากบ้าน”

อ้างอิง
https://healthcare.utah.edu/publicaffairs/news/2021/10/covid-asymptomatic-kids.php
https://jamanetwork.com/journals/jamapediatrics/fullarticle/2785007
https://www.news-medical.net/news/20211030/Children-and-adults-have-similar-risks-of-SARS-CoV-2-infection-but-kids-do-not-show-symptoms.aspx
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/11/211101105407.htm
https://www.eurekalert.org/news-releases/933310