ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กกต.ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัด สธ. ให้ อสม.ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง อบต.-ช่วยหาเสียง งดปฏิบัติหน้าที่ ด้าน “ชมรม อสม. แห่งประเทศไทย” โต้ อสม. เป็นจิตอาสา และถูกตีความว่าไม่ใช่ “คนของรัฐ” คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิ และกระทบสุขภาพประชาชน


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงวันที่ 28 ต.ค. 2564 โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นผู้ลงนาม เพื่อขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง งดปฏิบัติหน้าที่

หนังสือดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นขอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของ อบต. และกกต.ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสภา อบบต. และนายก อบต. ตามมาตรา 142 แห่ง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยผู้อำนวกยาร กกต.ประจำ อบต. ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. 2564

ทั้งนี้ กกต. ขอเรียนว่า ในการเลือกตั้งสมาชิก อบต. และนายก อบต. ได้มี อสม. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก อบต. หรือ นายก อบต. หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียง โดย อสม. มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบตามระเบียบกระทรวง สธ. ว่าด้วย อสม. พ.ศ. 2554 กำหนดไว้ และปัจจุบันมีบทบาทหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

“การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิก อบต. และนายก อบต. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม จึงขอความร่วมมือแจ้งส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ขอให้ อสม. ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียง ได้งดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ” หนังสือ กกต. ระบุ

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีหนังสือดังกล่าว ทาง “ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย” ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 ต.ค. 2564 ถึงเลขาธิการ กกต. โดยมี นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ทบทวนหนังสือเรื่องให้ อสม. งดปฏิบัติหน้าที่

สำหรับหนังสือของชมรม อสม.แห่งประเทศไทย ระบุตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการชมรม อสม.แห่งประเทศไทย มีความเห็นร่วมกันว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิของ อสม. และจะมีผลเสียกับประชาชนที่ อสม. ดูแลอยู่

ทั้งนี้ พวกเราเป็นแค่ประชาชนที่มีจิตอาสา มีความมุ่งมั่นในการดูแลคนนชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่รับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือนต่อ อสม. 1 คน หากไม่ปฏิบัติหน้าที่ อาจเกิดความลำบากหรือผลกระทบเสียหายขึ้นกับประชน โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อสม.ต้องทำแผล ตรวจวัดเบาหวาน ความดัน รับยาให้

“งาน อสม. ส่วนใหญ่เน้นในเรื่องการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จึงไม่เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือหากคู่แข่งทางการเมืองเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ พวกเราทราบดีว่า ตามที่ กกต.ได้ตีความว่า อสม.ไม่ใช่คนของรัฐ จึงมีสิทธิ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ได้โดยไม่นำองค์กร อสม. หรือสัญลักษณ์ อสม. ไปกล่าวอ้าง หรือใช้สนับสนุนในการหาเสียง ซึ่ง อสม.ทุกคนทราบดี และปฏิบัติตาม

“แต่ความเป็น อสม.ไม่สามารถถอดออกจากตัวตนของ อสม.ได้ มันฝังอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเรา คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะรู้อยู่แล้วว่าใครเป็น อสม. หากคิดว่าประชาชนเห็นคนที่ทำดีแล้วจะเลือกคนดีเป็นตัวแทนของพวกเขาคงไม่ผิด แต่หากผู้ที่เป็นคู่แข่งต้องการชนะก็ต้องแข่งขันกันสร้างประโยชน์และทำคุณงามความดี สุดท้ายประชาชนก็จะได้คนที่ดีที่สุดให้เป็นตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา” หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการชมรม อสม.แห่งประเทศไทย จึงมีมติขอความอนุเคราะห์มายังท่านเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนและยกเลิกคำสั่งดังกล่าว จักเป็นพระคุณยิ่ง