ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. จัดทำ “คู่มือการปรุงยาเฉพาะรายตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย (ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ) สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุข” รวม 16 ตำรับ


สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำ “คู่มือการปรุงยาเฉพาะรายตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย (ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ) สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุข” โดยมีทั้งสิ้น 16 ตำรับ

ทั้งนี้ แบ่งเป็น “ยาตำรับกัญชา” จำนวน 11 ตำรับ ได้แก่ 1. ยาศุขไสยาศน์ 2. ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง 3. ยาแก้มหาสันนิบาตทุวันโทษ 4. ยาแก้บานทะโรค 5. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง 6. ยาแก้ลมแก้เส้น 7. ยาแก้ปวดมุตคาด 8. ยาแก้ลมอัมพฤกษ์ 9. ยาแก้ปัตคาดราทยักษ์ 10. ยาทาข้างนอก 11. ยาแก้นอนมิได้

“ยาตำรับกัญชาที่ประยุกต์จากตำรับยาการแพทย์แผนไทย” จำนวน 5 ตำรับ ได้แก่ 1. ยาน้ำมันไพล ผสมใบกัญชา 2. ยาน้ำมันไพล ผสมใบกัญชา สูตรร้อน 3. ยาน้ำมันไพล ผสมใบกัญชา สูตรเย็น 4. ยาหม่อง ผสมใบกัญชา 5. ยาน้ำมันเขียวผสมกัญชา

สำหรับตำรับยากัญชาที่อยู่ในคู่มือฉบับดังกล่าว จะใช้กัญชาในส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ตามประกาศ สธ. เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย 1. เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก 2. ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย 3. สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก 4. กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

ในส่วนของนิยามการปรุงยาเฉพาะราย หมายถึง การใช้ยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน ที่มีอยู่ในตำราหรือท้องถิ่น โดยพิจารณาตามอาการและวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยแต่ละราย

อนึ่ง สามารถอ่านรายละเอียดคู่มือฉบับเต็มได้ที่
https://ockt.dtam.moph.go.th/images/Document/thai_traditional_medical_cannabis_recipe.pdf