ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส่องการทำงานของ รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จัดทีมดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังถึงบ้าน ผนึก “สปสช.-ไปรษณีย์” ส่งน้ำยาล้างไตเดลิเวอรี่ ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วม


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เยี่ยมชมการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ของโรงพยาบาลอินทร์บุรี ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พร้อมทั้งเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่ ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564

นพ.อดิศร อรัญปาลย์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลอินทร์บุรี เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ลื่นล้ม ไม่มียานพาหนะสำหรับเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่พบปัญหาเรื่องการจัดเก็บน้ำยาล้างที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในช่วงน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลอินทร์บุรีได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่สะดวกมาตามนัดของโรงพยาบาล โดยจะมีการส่งน้ำยาล้างไตไปให้ถึงบ้าน และยังมีทีมพยาบาลที่ดูแลเรื่องการฟอกไตเข้าไปเจาะเลือดให้ รวมทั้งได้ประสานงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลงไปเจาะเลือดและต่อน้ำยาให้ ในกรณีที่ทีมจากโรงพยาบาลลงพื้นที่เองไม่ได้

นพ.อดิศร กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลอินทร์บุรี มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องรับบริการฟอกเลือดในศูนย์ฟอกไตของโรงพยาบาลประมาณ 40 ราย และมีศูนย์เอกชนที่เข้ามาช่วยดูแลอีกประมาณ 20 ราย รวมเป็น 60 ราย โดยแนวโน้มของผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉลี่ยประมาณปีละกว่า 20 ราย ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้องทั้งหมด 113 ราย แต่ในขณะเหลือเพียง 63 ราย เพราะผู้ป่วยบางส่วนมีปัญหาจากการล้างไตผ่านทางช่องท้อง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกเลือดแทน บางรายย้ายภูมิลำเนา รวมถึงผู้ป่วยเสียชีวิต

นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ ดิสทริบิวชัน จำกัด (ปณท.ดบ.) กล่าวว่า ไปรษณีย์จะทำหน้าที่ตั้งแต่รับยา-น้ำยาล้างไตจากผู้ผลิต เข้าคลังเก็บสินค้าที่เป็นคลังเก็บยาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะ โดยจะมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งคลังสินค้าจะควบคุมอุณหภูมิที่ได้มาตรฐาน GMP จากนั้นไปรษณีย์จะรับคำสั่งจากทีมแพทย์-พยาบาลในพื้นที่ผ่านระบบของ สปสช. เพื่อจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน โดยระหว่างการขนส่ง ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบเลขได้เหมือนการส่งพัสดุทั่วไป

นอกจากนี้ เมื่อนำส่งถึงบ้านผู้ป่วยแล้ว เจ้าหน้าที่ยังจำเป็นจะต้องจัดเรียงน้ำยาให้กับผู้ป่วย โดยจะเรียงจากวันใกล้หมดอายุขึ้นมาก่อน เพราะน้ำยานั้นมีวันหมดอายุ

นายพีระ กล่าวต่อไปว่า ทางบริษัทไปรษณีย์ มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มทักษะสำหรับการส่งยา และเวชภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บ ดูแลน้ำยา ควบคุมอุณหภูมิ รวมไปถึงการบันทึกผล และคำนวณน้ำยาให้พอดีกับผู้ป่วยเพื่อลดความสิ้นเปลือง โดยจะมีการส่งน้ำยาให้กับผู้ป่วย จำนวน 20 ลัง หรือ 120 ถุง สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งก็จะมีกำหนดส่ง 1 รอบ ต่อ 1 เดือน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการให้เห็นว่า การส่งน้ำยาให้กับผู้ป่วยที่ประสบอุทกภัยที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องยังเป็นไปตามปกติหรือไม่ รวมไปถึงผู้ป่วยสามารถนำน้ำยามาใช้อย่างสะดวกหรือไม่

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ สปสช. ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีภาวะที่ต้องล้างไตอย่างต่อเนื่อง เพราะโดยปกติแล้ว สปสช. จะร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อจัดส่งน้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้องให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน

“ขณะนี้ยืนยันว่า สปสช. เขตพื้นที่ทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ มีการลงตรวจสอบ-สำรวจว่ามีจุดใดที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งก็จะมีการส่งข้อมูลให้กับไปรษณีย์” ทพ.อรรถพร ระบุ

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ทางบริษัทไปรษณีย์ แจ้งว่ากำลังประสานงานกับทางกู้ภัยในกรณีฉุกเฉิน หากไม่สามารถหารถ-เรือได้ ก็จะมีการประสานเพื่อขอความร่วมมือกับกู้ภัยเข้ามาช่วยจัดส่งน้ำยาให้กับผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งก็คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีการประสานกันในพื้นที่

“ขอให้ความเชื่อมั่นว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมบ้าน ทาง สปสช. โรงพยาบาล และไปรษณีย์ก็จะพยายาม ส่งน้ำยาที่เป็นเครื่องมือสำคัญให้กับผู้ป่วยได้ใช้อย่างต่อเนื่อง” ทพ.อรรถพร กล่าว