ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผู้ป่วยฟอกไต 1 ราย จะต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ 200 ลิตร ต่อการฟอก 1 ครั้ง ... เครื่องผลิตน้ำบริสุทธิ์ต้องใช้กระแสไฟฟ้า แต่ปัญหาคือบางครั้งไฟฟ้าก็ตัด” นพ.อดิศร อรัญปาลย์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลอินทร์บุรี บอกเล่ากับ “The Coverage” ถึงปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตอุทกภัย กับสิ่งที่ “ศูนย์ไตเทียม” โรงพยาบาลอินทร์บุรี ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ต้องเผชิญ

เมื่อกรองน้ำดิบให้เป็น “น้ำบริสุทธิ์” ไม่ได้ ก็ไม่มีน้ำบริสุทธิ์เพียงพอสำหรับให้บริการล้างไต

โดยปกติแล้ว การกรองน้ำดิบให้กลายเป็นน้ำบริสุทธ์ต้องใช้กระแสไฟฟ้า แต่เมื่อเกิดน้ำท่วม หลายพื้นที่ไฟฟ้าถูกตัด เครื่องผลิตน้ำก็หยุดทำงานโดยทันที

“พอไฟดับ ก็จะเกิดปัญหาน้ำบริสุทธิ์ไม่พอ” นพ.อดิศร ระบุ

 นพ.อดิศร อธิบายว่า น้ำดิบ 100 ลิตร เมื่อผ่านการกรองแล้วจะกลายเป็นน้ำบริสุทธ์ หรือ น้ำ RO (Reverse Osmosis) จะเหลือเพียงแค่ 40% สำหรับนำมาล้างไต โดยในจำนวน 40% นี้ ยังต้องแบ่งไว้สำหรับล้างเครื่องกรองด้วย

ส่วนน้ำอีก 60% จะเป็นน้ำที่ถูกทิ้ง ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลนำน้ำส่วนนี้เก็บไว้ในถังพักน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ หรือใช้ล้างอุปกรณ์ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำบริสุทธิ์

สำหรับผู้ป่วยฟอกไต 1 ราย จะต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ 200 ลิตร ต่อการฟอก 1 ครั้ง

ใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยแต่ละรายมีความถี่ในการฟอกที่ไม่เท่ากัน บางคน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ บางคนมากถึง 3 ครั้ง

สำหรับศูนย์ฟอกไตของโรงพยาบาลอินทร์บุรี ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ประมาณ 50 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยไตที่ดูแลโดยศูนย์ฯ เอกชนที่อยู่ในโรงพยาบาลอีกประมาณ 17 ราย

เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ปริมาณน้ำดิบที่โรงพยาบาลต้องใช้จะอยู่ที่ ประมาณ 10,000 ลิตร ต่อวัน

“ผู้ป่วยบางรายเคยฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก็ต้องเหลือ 2 ครั้ง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องเลื่อนนัดผู้ป่วยในบางราย หรือถ้าไม่สามารถเลื่อนได้ ก็ต้องลดระยะเวลาในการฟอก จากครั้งละ 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ไม่สามารถลดจำนวนครั้งของผู้ที่ต้องฟอกไตจาก 2 ครั้ง ให้เหลือ 1 ครั้งได้ เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการฟอกไตตามเกณฑ์ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำเกิน หรือของเสียคั่งได้” นพ.อดิศร ระบุ

“แต่ถ้าผู้ป่วยรายใดไม่ไหว ทางโรงพยาบาลก็จะเรียกมาฟอกเสริม”

นพ.อดิศร เล่าต่อไปว่า การลดจำนวนหรือระยะเวลาการฟอกไตลงนั้น โรงพยาบาลจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงผลกระทบ เช่น เขาอาจมีภาวะน้ำเกิน หรือของเสียคั่ง ฉะนั้นก็ให้ผู้ป่วยเข้มงวดเรื่องอาหารมากขึ้น  

มากไปกว่านั้น นอกเหนือจากปริมาณน้ำดิบที่ไม่เพียงพอแล้ว โรงพยาบาลก็ยังได้รับผลกระทบในเรื่องของคุณภาพน้ำดิบในช่วงน้ำท่วม เพราะโรงพยาบาลอินทร์บุรี เป็นโรงพยาบาลที่ใช้น้ำดิบจากน้ำบาดาลเป็นหลัก เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ทำให้คุณภาพของน้ำดิบนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีตะกอนเยอะกว่าเดิม ทำให้เครื่องผลิตน้ำบริสุทธิ์ต้องทำงานหนัก รวมไปถึงยังต้องเปลี่ยนตัวกรองระบบน้ำบริสุทธิ์บ่อยขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้น้ำดิบที่ได้มาอาจจะมีคุณภาพแตกต่างกันไป แต่ก็ให้ความมั่นใจได้ว่าน้ำดิบที่ผ่านการกรองจนกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์นั้น มีคุณภาพและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมโรคไต

สำหรับการแก้ปัญหาปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอนั้น ทางโรงพยาบาลจะทำการประสานงานกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ เพื่อให้ท้องถิ่นนำน้ำดิบบรรจุใส่รถดับเพลิง เพื่อเข้ามาเติมในถังน้ำดิบของโรงพยาบาลเป็นรายครั้ง

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่ อบต. ในพื้นที่มีภารกิจที่อาจจะต้องออกไปช่วยประชาชน ทางโรงพยาบาลก็จะประสานงานไปยัง อบต. พื้นที่อื่นแทน โดยเป็นการใช้ความรู้จัก และความสัมพันธ์ในติดต่อกัน ซึ่งก็ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที หลังจากที่ได้มีการประสานไป

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ทีมแพทย์-พยาบาลจำเป็นต้องตรวจสอบปริมาณน้ำดิบบ่อยขึ้นกว่าเดิม หากเมื่อไหร่ที่เกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอ โรงพยาบาลก็จะยังไม่เรียกผู้ป่วยเข้ามารับบริการ โดยจะเรียกผู้ป่วยก็ต่อเมื่อปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการฟอกไตเท่านั้น

นพ.อดิศร ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เนื่องจากระบบไฟฟ้าไม่ขัดข้อง แต่ก็มีการพูดคุยถึงแนวทางในอนาคตว่า โรงพยาบาลอาจจะจำเป็นต้องเพิ่มถังบรรจุน้ำดิบให้มากขึ้น เพราะในขณะนี้โรงพยาบาลมีถังบรรจุน้ำดิบ ปริมาณ 2,500 ลิตร เพียงแค่ 1 ถังเท่านั้น

ทั้งนี้ จากการคำนวณ ถ้าจะไม่ให้เกิดปัญหา ควรจะต้องมีถังบรรจุน้ำดิบ ปริมาณ 1 หมื่นลิตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขัดข้อง