ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่กับเรามานาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่โควิด–19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งพบเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา

ทว่า ปัจจุบันกลับมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ป่วยโควิด-19 จะไม่มีทางรอดชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

พญ.กนกรัตน์ สุวรรณละออง อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลสงขลา อธิบายว่า ช่วงโควิด–19 ระบาดตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ที่โรงพยาบาลสงขลาพบผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคหลอดเลือดสมองและโรคโควิด-19 จำนวน 2 ราย

รายแรกพบเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว มาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เกิดขึ้นจากเส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน อาการค่อนข้างหนัก ผลตรวจ RT-PCR พบว่าเป็นโควิด–19 และจากการตรวจสอบประวัติพบว่าผู้ป่วยเป็นไข้มา 2 วัน แต่ไม่ได้มาโรงพยาบาลเพราะไข้ แต่พอเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงถึงได้มาโรงพยาบาล

อีกรายเป็นเส้นเลือดแดงเล็กอุดตัน มาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด ไม่มีอาการไข้ ทั้งสองรายเป็นกลุ่มเสี่ยง อายุเยอะ เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว

สำหรับผลการรักษา รายแรกเสียชีวิตโดยมีโควิด -19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญาติหดหู่ ถอดใจ ไม่ให้รักษาด้วยการผ่าตัด ให้รักษาแบบประคับประคอง ส่วนรายที่ 2 รักษาตามแนวทางการดูแลคนไข้สมองตีบ คนไข้อาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้

“ความเชื่อที่ว่าถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นโควิด-19 จะไม่รอดชีวิตนั้นไม่เป็นความจริง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ความรุนแรง หรือมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วย อย่างรายแรกที่เสียชีวิต อาการป่วยจากโควิด-19 ดูจากฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดแล้ว ไม่รุนแรงอะไร แต่เสียชีวิตจากเส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน” พญ.กนกรัตน์ ระบุ

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทและสมอง หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า คนไข้ติดโควิด-19 มีโอกาสทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น เนื่องจากโควิด–19 ทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย มีบางเคสเกิดขึ้นที่หลอดเลือดสมอง และทำให้เกิดลิ่มเลือดง่ายขึ้น

มีการตีพิมพ์การศึกษาวิจัยในออสเตรเลีย พบว่าในคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ แต่กรณีแบบนี้ก็ไม่ได้เจอบ่อย

นอกจากนี้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ไขมัน สูบบุหรี่ อายุมาก การติดโควิด–19 จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น หลอดเลือดตีบมากขึ้น เกิดความผิดปกติมากขึ้นกว่าเดิม

“ทั้งสองโรคเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนสูงวัยเป็นเรื่องที่พบบ่อย ไม่ใช่เรื่องอุบัติใหม่เหมือนโควิด -19 แต่รุนแรงและน่ากลัวกว่า” ผศ.นพ.สุรัตน์ ระบุ

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น ได้แก่ การไม่เข้าถึงการรักษา เนื่องจากคนไข้โรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ช่วงโควิดมีการล็อคดาวน์ ทำให้ขาดการรักษา เกิด โรคหลอดเลือดสมองได้

อีกส่วนหนึ่ง เชื้อโควิด – 19 เอง ก็มีส่วนทำให้เลือดข้นง่ายขึ้น เลือดไหลยากมากขึ้น อาจทำให้เกิดอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดได้ คนไข้โควิด-19 บางคนก็เกิดเลือดออกในเนื้อสมองได้ เนื่องจากคนไข้โควิด-19 จะเกิดภาวะหลอดเลือดดำที่ขาเกิดการอุดกั้น จำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกในเนื้อสมองได้

พญ.ทัดดาว วิโรจน์อุไรเรือง อายุรแพทย์โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า นอกจากเรื่องของโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่เกิดจากการขาดเลือด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการแข็งตัวของเลือดและยังทำให้เกิดลิ่มดำอุดตันในสมองได้ด้วย มีรายงานเคสในต่างประเทศพบอัตราเพียง 0.5% แม้จะไม่ได้เยอะมากแต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และเรารู้กันอยู่แล้วว่า ภาวะหลอดเลือดสมองดำอุดตันมีอันตรายถึงชีวิตมากกว่าเส้นเลือดสมองแดงตีบ

ดังนั้น คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงต้องระวังเป็นพิเศษ แม้ว่าบางครั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยงอะไรเลยก็สามารถเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ รู้ไว้ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นกังวลว่าเป็นโควิดแล้วจะต้องเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัตราการเกิดไม่ได้เกิดบ่อย แต่เกิดได้ และควรจะต้องรู้อาการเบื้องต้นว่าอาการแบบไหนถึงจะสงสัยว่าเป็นภาวะนี้

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอัมพาตอยู่แล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายกว่าคนปกติ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ และอาจมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น เบาหวาน และมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะเสียชีวิตได้มากขึ้น ถึงได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน โดยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็น 1 ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่ควรฉีดวัคซีนก่อนคนอื่น