ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากจำกันได้ ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ของไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลัก 2,000-3,000 คนต่อวัน ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. พุ่งทะยานแตะหลักหมื่นคนต่อวัน ในช่วงกลางเดือน ก.ค.

ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งทะลักขึ้นมาจนเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรองรับไหว ทำให้ต้องนำระบบการดูแลที่บ้าน/ในชุมชน (Home Isolation, Community Isolation) มาใช้

ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงรักษาตัวที่บ้านภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ทำให้หน่วยบริการส่วนมากปรับตัวไม่ทัน ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ไม่หมด มีคนตกค้างรอเข้าระบบนับหมื่นคน จนต้องระดมสรรพกำลังวิชาชีพด้านสาธารณสุขจากทุกภาคส่วนแม้กระทั่งนักศึกษา ให้เข้ามาช่วยดูแลผู้ที่ยังตกค้างไม่ได้เข้าไปสู่ระบบการดูแล รวมทั้งเป็นกำลังเสริมช่วยหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ Home Isolation ด้วย

“ทันตแพทย์” ก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่เข้ามามีส่วนเป็นกำลังเสริมให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขใน กทม. ในช่วงนั้น โดยรับบทบาทในการโทรสอบถามประเมินอาการ ดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งไปประจำอยู่หน้างานคอยประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งทันตแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์ที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริการสาธารณสุขในครั้งนี้ มาจากหลายเครือข่ายแต่รวมกันในชื่อเครือข่ายทันตบุคลากรสู้ภัยโควิด

ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารพัฒนา องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) กล่าวถึงที่มาการเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า ได้รับการประสานจาก สปสช. เพื่อสนับสนุนในด้านกำลังคนเพราะขณะนั้นระบบบริการในกทม.เริ่มมีปัญหา

“ตอนแรกคิดว่าจะเอานักศึกษาไปช่วยก่อน แต่พอไปดูข้อมูลใน Dash Board ของ กทม. แล้วพบว่าปัญหาใหญ่กว่าที่คิด มีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลจำนวนมากซึ่งเป็นจุดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเมืองศูนย์กลางของประเทศ เลยคิดว่าจะทำเฉพาะกลุ่มนักศึกษาเด็กๆคงไม่ได้แล้ว เลยเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม อ.บ.ท.ท.ว่าตอนนี้ กทม.กำลังหนักนะ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างระบบมันจะแย่”ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าว

เมื่อที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็เริ่มมีการ Recruit กำลังคนให้ได้มากที่สุด ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและคนที่เรียนจบออกมาเป็นหมอฟันแล้ว รวมทั้งสมาพันธ์ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุขด้วย

ทั้งนี้ เริ่มแรกมีการนำร่องศูนย์สาธารณสุข 60 และ 61 ก็พบว่าในระบบที่ กทม. และ สปสช. Set ไว้ ด้วยศักยภาพของหมอฟันก็สามารถทำได้ถ้าได้เรียนรู้ จากนั้นก็ขยายการสนับสนุนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขประมาณ 10 แห่ง โดยแบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1. งานแอดมินติดต่อกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ Home Isolation เพราะปัญหาที่เจอคือประชาชนเมื่อทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ก็จะตื่นตระหนกและลงทะเบียนหรือติดต่อไปในทุกช่องทางเพื่อเข้าสู่การรักษา เมื่อได้ข้อมูลแล้วกลุ่มแอดมินจะติดต่อกลับไปสอบถามประเมินอาการและจัดผู้ป่วยให้เข้าสู่ช่องทางการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่งานนี้จะเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์กว่า 179 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

2. กลุ่มที่อาจารย์ทำหน้าที่ follow up ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation คอยติดตามว่าในแต่ละวันผู้ป่วยอาการเป็นอย่างไร มีอาหาร มียาไปส่งหรือไม่ จนครบ 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับมาจะเป็นกลุ่มสีเขียว การดูแลจึงไม่ยุ่งยากมากนัก อาจารย์ 1 คนจะดูแลผู้ป่วยประมาณ 5-10 เคส คอยติดตามอาการ คอยประคับประคองไม่ให้กังวลใจ จนในระยะหลังเริ่มมีทักษะมากขึ้น แพทย์ก็เริ่มไว้ใจและจ่ายเคสในกลุ่มสีเหลืองมาให้ดูแลบ้าง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อีกชั้นหนึ่ง

3. กลุ่มที่เข้าไปอยู่หน้างานที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเลย เพื่อทำหน้าที่จัดการ ประสานงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งยา การรับตัวผู้ป่วยที่บ้าน เป็นต้น

“เรากลัวว่าอาจารย์จะมีภาระมากจนทำไม่ไหว เลยตัดเป็น 2 เฟส เฟสละ 7 วัน ถ้าทำ 7 วันแรกแล้วยังทำต่อได้ก็ให้ทำอีก 7 วัน ตอนแรกก็กลัวว่าจะมีคนลุยกับเราไหม แต่ก็ปรากฏว่าเขายินดีจะมาทำ เรามีหมอฟันในคิวตอนเปิดระบบแรกๆ ประมาณ 500 กว่าคน จนตอนนี้สถานการณ์ กทม.เริ่มดีขึ้น ระบบที่วางไว้เริ่ม run ได้แล้ว เราก็ค่อยๆ ถอยออกมา” ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าว

ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าวว่า รวมๆ แล้วใน 1 เดือนที่ผ่านมา ทันตแพทย์สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยไปได้ประมาณ 2,700 คน ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะไม่ได้มาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือบทพิสูจน์ว่าหมอฟันก็สามารถ Fit in ในระบบสาธารณสุข เป็นวิชาชีพที่สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับวิชาชีพอื่นๆ ได้ในภาวะวิกฤติ

“ในช่วงปีที่แล้วที่มีการระบาดระลอกแรกๆ ส่วนตัวแล้วรู้สึกแย่กับวิชาชีพตัวเอง เพราะรู้สึกว่าพอมีโควิด-19 ปุ๊บ หมอฟันก็ปิดร้าน บางคนก็วิจารณ์ว่าหมอฟันไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นที่ยืนในระบบสาธารณสุขของทันตแพทย์มีน้อยมากในตอนนั้น แต่ปีนี้มีหมอฟันเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ทางการ Swab การฉีดวัคซีน เวลาดูใน Dash board ของผู้ป่วยระบบ Home Isolation ก็จะเห็นกลุ่มทันตแพทย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการผู้ป่วยร่วมกับจิตอาสาและวิชาชีพอื่นๆ ด้วย แสดงว่าปีนี้เราสามารถทำให้ทันตแพทย์มีที่ยืนในระบบสุขภาพในภาพรวม ซึ่งจะดูแลคนได้มากได้น้อยไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยคือไม่ใช่วิชาชีพที่ไม่มีใครมองเห็น”ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าว

เช่นเดียวกับ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครือข่ายทันตแพทย์ที่เข้าร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กล่าวว่า ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงพีคที่ กทม. มีปัญหาในการเข้าถึงบริการอย่างมาก พอดีว่ามีน้องๆทันตแพทย์เข้าไปเป็นจิตอาสาอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. และเห็นความเป็นไปได้ในการเรื่องดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่อยู่ใน Home Isolation ภายใต้การดูแลของแพทย์ของหน่วยบริการนั้นๆ จึงได้ติดต่อมาว่าอยากทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้นเป็น 6 - 7 แห่ง และขอให้สมาพันธ์ช่วยประชาสัมพันธ์เชิญทันตแพทย์ในเครือข่ายเข้าร่วมโครงการ

ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า หลังจากประชาสัมพันธ์ไปแล้วปรากฏว่ามีทันตแพทย์สมัครเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้แต่นักศึกษาทันตแพทย์รวมประมาณ 700 คนที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไรก็ดี ส่วนมากทันตแพทย์ของสมาพันธ์จะประจำอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด การช่วยเหลือก็ทำได้ตามสภาพ เช่น กลางวันทำงานที่โรงพยาบาล ตอนเย็นโทรติดตามอาการคนไข้ โดยจะมีทีมหลักที่คอยจัดคิวให้ทันตแพทย์ดูแลผู้ป่วย

“เราเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ของศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่ใน Home Isolation ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 จนกระทั่ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มมีผู้ติดเชื้อน้อยลง จำนวนศูนย์บริการสาธารณสุขที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราก็ลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะจบเท่านี้ เพราะเครือข่ายเรายังประสานกับจิตอาสากลุ่มอื่นๆ ในการช่วยเหลือในจุดที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เวลาใครมีงานอะไรตรงไหน ถ้าทันตแพทย์ในพื้นที่นั้นสะดวกก็ไปช่วยหมด” ทพญ.ปิยะดา กล่าว

ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นอีกบทบาทที่ทันตแพทย์รู้สึกภูมิใจ เพราะปกติคนก็จะคิดว่าทันตแพทย์ไม่ค่อยได้ช่วยทำอะไร แต่สุดท้ายแล้วก็ทำทุกอย่าง ทั้งการ Swab การฉีดวัคซีน การดูแลคนไข้ หมอฟันสามารถไปช่วยงานได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นอกจากการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยแล้ว กลุ่มทันตแพทย์ที่เข้าไปช่วยงานศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ยังทำโครงการดีๆที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วเร็วขึ้นด้วย

ทพ.สูงกฤษฏิ์ พจน์มนต์ปิติ ทีมอาสาสมัคร D Hub by D volunteer กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มใช้ระบบ Home Isolation นั้น ตามระบบที่ออกแบบไว้จะมีการส่งอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้ผู้ป่วยทุกคน เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้แพทย์ประเมินอาการ โดย สปสช.จะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ดังกล่าวให้ อย่างไรก็ดี ปัญหาคือต้องผ่านกระบวนการซื้อซึ่งใช้เวลาพอสมควร ขณะที่คนไข้รอไม่ได้ หรือต่อให้มีเงินซื้อจริงก็ไม่มีสินค้าในตลาดมากพอที่จะแจกให้ผู้ป่วยทุกคน

ด้วยเหตุนี้น้องๆ นักศึกษาในทีมจึงเกิดความคิดในการหาระบบอะไรบางอย่างมาช่วย และคิดถึงการทำ Hub เครื่องวัดออกซิเจนให้ยืมใช้หมุนเวียนกัน จึงได้จัดโครงการ D Hub by D volunteer รับบริจาคแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วมาใช้ในระหว่างที่หน่วยงานรัฐอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อ พอรัฐจัดซื้อเสร็จแล้ว ก็ไปเอาของที่มาจากการบริจาคคืนเพื่อเอาไปหมุนเวียนใช้ที่อื่นที่ยังขาดอยู่

“สิ่งที่เรามองคือไม่ใช่แค่การใช้เงินแล้วก็หมดไป แต่เราพยายามทำให้ระบบอยู่ได้ด้วยเพื่อบริหารเงินบริจาคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็เลยทำโครงการเอามาหมุนเวียน เพราะในอนาคตการขาดแคลนเครื่องวัดระดับออกซิเจนคงไม่ได้ขาดแคลนจุดเดียว เราทดลองทำที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 2แห่งแล้วเพิ่มเป็นประมาณ 5 แห่ง รวมจำนวนเครื่องวัดระดับออกซิเจนที่ส่งให้ประมาณ 400-500 เครื่อง และยังมีสำรองไว้อีกประมาณ 500 เครื่อง แต่แล้วตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ทางกทม.จัดซื้อจัดจ้างเสร็จแล้ว ก็เลยไม่มีช่วงที่ต้องเข้าไปเติมเต็ม”ทพ.สูงกฤษฏิ์ กล่าว

ทพ. สูงกฤษฏิ์ กล่าวอีกว่า แม้ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุขจะไม่ขาดแคลนเครื่องวัดระดับออกซิเจนแล้ว แต่โครงการ D Hub ยังคงอยู่แต่อาจหมุนเวียนอุปกรณ์ไปใช้ในกลุ่มอื่นๆที่ยังต้องการ เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อาจมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เต็ม 100% หรือไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอะไรเลย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับคนต่างด้าว

“โครงการนี้ผ่านกระบวนการคิดจากน้องๆนักศึกษาทันตแพทย์ทั้งหมด จากทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมประมาณ 15-20 คน ส่วนผมเพียงเป็นพี่เลี้ยงให้ พอทำโครงการนี้น้องๆ ได้ประสบการณ์เยอะมากเลย มันท้าทายความเชื่อว่าหากระบบของรัฐดี เราไม่ต้องการอาสาเพื่อมาทำการเกื้อหนุน แต่เมื่อระบบตอนนี้มันมีการช็อตเกิดขึ้น งานอาสาก็เข้ามาในส่วนนี้ คือเข้ามาซัพพอร์ตให้ระบบของรัฐดันต่อไปได้ แต่ไม่ใช่มาซัพพอร์ตเป็นฐานให้กับรัฐ น้องก็จะได้เรียนรู้ว่าเงินที่บริจาคมาไม่ควรสูญเสียไปในระบบโดยสูญเปล่าเฉยๆ แต่ต้องเกิดความยั่งยืนเกิดขึ้นในโครงการ เขาก็ได้พิสูจน์ความเชื่อนี้ว่าความเชื่อนี้จริงหรือไม่”ทพ.สูงกฤษฏิ์ กล่าว