ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เตือน “ภาวะ Long COVID” แม้จะหายป่วยแล้ว แต่เชื้อยังไม่หมด-แสดงอาการต่อเนื่อง พบในผู้ป่วย 30-50% ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยกลุ่มสีแดงมีโอกาสเกิดสูง


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายรายวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นและสูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ สะท้อนถึงคุณภาพระบบการดูแลรักษา โดยยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงวันนี้รวม 1,405,374 ราย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายรายจะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว แต่อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภาวะลองโควิด” (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ 30-50% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จึงไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจแต่อย่างใด

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า อาการของ “ภาวะลองโควิด” แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง บางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ  เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว บางรายอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน

ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 แม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422