ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในภาพที่เราคุ้นเคยกันจากวัฒนธรรม K-wave ของเกาหลีใต้ นั่นก็คือภาพ “สตรีทฟู๊ด” ตามท้องถนน ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือสื่อบันเทิงที่เกาหลีใต้ส่งออกมา

ภาพการกินดื่ม บรรยากาศความสนุกสนาน ในราคาย่อมเยา เกิดขึ้นในร้านริมทางเล็กๆ ตามถนนคนเดิน หรือภายใต้ร้าน “เต็นท์สีต่างๆ” ถือเป็นเอกลักษณ์ของสตรีทฟู๊ดเกาหลีใต้ และแน่นอนว่า นอกจากชาวเกาหลีใต้เองแล้ว สตรีทฟู๊ดเหล่านี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสเช่นเดียวกัน

ร้านแผงตามถนนและเต็นท์ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองเหล่านี้ เรียกกันในภาษาเกาหลีว่า “โพจางมาจา” (포장마차) ขายอาหารที่หลากหลาย ตั้งแต่ไก่ทอดไปจนถึงซุปร้อนๆ บ้างก็เป็นจุดกินดื่มสังสรรค์กันยามค่ำคืนของชาวเกาหลี

โพจางมาจานั้นจริงๆ แล้วเป็นของใหม่ เกิดขึ้นมาเพียงแค่ราว 60 ปีก่อน โดยเริ่มแรกนั้นก็เป็นรถเข็นหรือแพงลอยที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ในเมือง จำหน่ายของว่างและเครื่องดื่มทั่วไป ก่อนที่จะเริ่มมีการพัฒนาเอาหลังคามาคลุม จัดแจงที่นั่งให้ผู้คนสามารถนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มได้  

พอขยับมาถึงทศวรรษที่ 1970 โพจางมาจาก็เริ่มพัฒนาเป็นร้านรวงเต็มรูปแบบ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มพร้อมสถานที่สำหรับนั่งรับประทาน ซึ่งก็เป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม “พัลลี – พัลลี” (빨리-빨리) ที่หมายถึงการทำงานหนักและเร่งรีบของชาวเกาหลี ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาร้านอาหารประเภทโพจางมาจาเพื่อประหยัดเวลา หรือเอาไว้ใช้หย่อนใจและกายหลังเลิกงานดึก

ปัจจุบันสามารถพบโพจางมาจาได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นมหานครโซล แดกู แดจอน หรือนครปูซาน แค่เพียงในโซลน่าจะมีโพจางมาจามากกว่า 3,000 ร้าน

แต่เมื่อเป็นร้านรวงริมถนน เป็นแหล่งรวมผู้คนมากหน้าหลายตา นั่นทำให้เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ โพจางมาจาก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

แม้จะไม่มีประกาศ “ล็อคดาวน์” เข้มงวดจากรัฐบาล แต่ตั้งแต่เกิดการระบาดมา ความคึกคักบนท้องถนนโดยเฉพาะในกรุงโซลก็น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกนำมาใช้ ห้ามรวมตัวกันหลัง 20.00 นาฬิกา ร้านอาหารและคาเฟ่ไม่สามารถให้บริการในร้านได้หลัง 22.00 นาฬิกา ทำให้พื้นที่พบปะสังสรรค์อย่างโพจางมาจานั้นก็เงียบเหงา

ที่สำคัญก็คือ การหายไปของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะนักเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ นักท่องเที่ยวนั้นลดลงถึง 85% จากที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือย่านการค้าแสนคึกคักอย่าง “เมียงดง” ที่เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้หวังมายลโฉมของย่านการค้าขนาดใหญ่ สตรทฟู๊ดขึ้นชื่อ และบรรยากาศของโพจางมาจา ก็เงียบเหงาลงไปมาก ที่นอกจากร้านแบบสตรีทฟู๊ดแล้ว ร้านค้าและธุรกิจในย่านนั้นก็เงียบเหงาเช่นเดียวกัน

เจ้าของกิจการร้านหนึ่งถึงกับพูดกับสื่อท้องถิ่นว่า “เปิดร้านมาสิบปียังไม่เคยเงียบเท่านี้มาก่อน”

นี่ทำให้แค่เพียงในย่านเมียงดง มีร้านขนาดกลางปิดตัวลงไปแล้วกว่า 38% ของทั้งย่าน ยังไม่นับร้านจำพวกโพจางมาจาและสตรีทฟู๊ดอื่นๆ

ย่านอื่นๆ เช่น อึลจิโรซังกา จงโรซังกา ชินแดบัง ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนนั้นไม่ใช้บริการสตรีทฟู๊ดและโพจางมาจาในย่านเหล่านั้น

โควิด-19 ไม่ได้ทำให้การดำเนินกิจการของร้านรวงริมทางเหล่านี้ลำบากเพียงอย่างเดียว แต่โควิด-19ยังไปเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของชาวเกาหลีใต้อีกด้วย ซึ่งนั่นก็คือการหันไปประกอบอาหารในครัวเรือนและใช้บริการออนไลน์แทนการออกนอกบ้านเพื่อซื้อหาอาหารปรุงสำเร็จหรือรับประทานอาหารนอกบ้าน

การซื้อหาอาหารทางออนไลน์ของชาวเกาหลีนั้นมีมูลค่าการเติบโตสูงขึ้นถึง 46% หลังจากเกิดการระบาด มูลค่านั้นสูงถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 5 แสนล้านบาท และการที่ผู้คนนั้นหันมารับประทานอาหารหรือกินดื่มในบ้านนั้น ทำให้สัดส่วนการใช้บริการร้านรวงต่างๆ นอกบ้านทั้งรับประทานในร้านและซื้อกลับบ้านนั้นลดลง 7.5% และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นแนวโน้มของความไม่แน่นอนของสถานการณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนและความท้าทายที่ร้านรวงริมทางและธุรกิจตามย่านการค้าต่างในเกาหลีใต้จะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต

เกาหลีใต้นั้นจะทำอย่างไรเพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์ของเมืองที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจของประเทศ ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

อ้างอิง