ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-เกษตรศาสตร์" ผนึกกำลังวิจัย "พืชสมุนไพร-พืชเสพติด" เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ชูความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เป็นความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านยาและการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานร่วมกัน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2567

นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ม.เกษตรศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของพืชสมุนไพรและพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายของพืชสมุนไพร ทำให้แนวโน้มความต้องการของตลาดโลกนั้นมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาที่หลากหลายที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ทำให้นำไปสู่การศึกษาและพัฒนาพืชสมุนไพรให้ได้มาซึ่งสารสำคัญ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นยาและการรักษาโรค ดังนั้นสมุนไพรจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาทางด้านการแพทย์และเศรษฐกิจของประเทศ

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนางานด้านสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงการวิจัยทางคลินิก โดยมีสถาบันวิจัยสมุนไพร เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการด้านสมุนไพร พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภาครัฐและเอกชน"

นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย 15 แห่ง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและดำเนินงานควบคู่กันไป ส่งผลให้เกิดการพัฒนาครอบคลุมทั้งประเทศ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีบทบาทในการพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพร

"โดยเฉพาะพืชเสพติดอย่างกัญชา มีการใช้เทคโนโลยีทางพันธุกรรมในการจำแนกและพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ร่วมกับเทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอก หางเสือ ตะนาวศรีก้านขาว และตะนาวศรีก้านแดง เป็นต้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว