ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ รับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทย พบ 6 ปี ไทยส่งออกสมุนไพรมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้าน อันดับหนึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


การประชุม “คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ” นัดแรกของปี 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานร่วมกัน ทำให้ประเทศไทยมีการ “ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 12,211 ล้านบาท มีขนาดตลาดสมุนไพรหรือมูลค่าการบริโภค เฉลี่ย 46,916.44 ล้านบาท แต่ในปี 2563 ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค (COVID-19) ทำให้ได้รับผลกระทบ มูลค่าการบริโภคลดลงร้อยละ 12.7 และเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับผลการดำเนินงานที่โดดเด่นมีทั้งหมด 7 เรื่องได้แก่ 1. ให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่อง GAP/Organic สมุนไพร ทำให้มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน จำนวน 67,010 ไร่ เกษตรกร 38,765 ราย เกิดการจับคู่ในเจรจาวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพมากกว่า 170 คู่ มีตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ จำนวน 1 แห่ง คือ ที่ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี สามารถสร้างมูลค่ากว่า 1,388 ล้านบาท

2. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ยกระดับสถานประกอบการกว่า 377 กิจการ พร้อมอบรมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบกว่า 6,133 ราย ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้วยการออกประกาศสิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับในการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร

3. ขยายช่องทางการตลาดสมุนไพรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้มีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า การจับคู่เจรจาธุรกิจ สร้างรายได้กว่า 2,467 ล้านบาท พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการสมุนไพรผ่านรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Herbal Awards: PMHA) และรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (Premium Herbal Product: PHP) ทั้งสิ้นกว่า 2,000 รายการ โดยแบ่งผลิตภัณฑ์เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจ ภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างการยอมรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

4. สนับสนุนลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม เพิ่มขึ้น 2,048.8 ล้านบาท มีโครงการวิจัยพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร กว่า 1,295 โครงการ

5. วิจัยส่งเสริมการใช้สมุนไพร ทำให้ปัจจุบันมีรายการยาสมุนไพรได้รับการบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรเพิ่มขึ้น 14 รายการ และมีการสั่งใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข มากกว่า 95.68 ล้านครั้ง

6. พัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 6,600 ล้านบาท

7. พัฒนา 14 จังหวัดให้เป็นเมืองสมุนไพรแบบครบวงจร ทั้งการปลูก การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ทำให้เกิดสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้เกษตรกรและการท่องเที่ยวของจังหวัด สร้างมูลค่าการตลาดสมุนไพรสะสมในระดับพื้นที่มากกว่า 8,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบผลการดำเนินงานทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ ภายใต้แผนการปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 และข้อคิดเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจของคณะกรรมการนโยบายฯ ทั้ง 5 คณะต่อไป