ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์จุฬาฯ เผย นับจากเดือน เม.ย. จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเป็น “ขาขึ้น” ชี้ไทยยังอยู่ในระลอก 3 เท่านั้น ระบุ สถานการณ์จะสุกงอมช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมองสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ยังคงอยู่ในระลอกที่ 3 เท่านั้น โดยเริ่มระบาดช่วงเมื่อเดือน เม.ย. 2564 จากนั้นก็มีแต่ขาขึ้น ยังไม่มีขาลง กระทั่งถึงจุดสูงสุดช่วงกลางเดือน ส.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงแต่ก็ยังไม่ถึงตีนเขา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเพียง 2 สัปดาห์ก็มีการประกาศคลายล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ก.ย. 2564  ส่วนตัวจึงมองว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระลอกที่ 3 ที่ยังไม่สามารถกดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ตลอดช่วงที่ผ่านมา

“การอ้างถึงการเปลี่ยนสายพันธุ์เป็นสาเหตุของการนับว่าเป็นการระบาดระลอก 4 นั้น เป็นการมองเชิงสาเหตุหรือหาปัจจัยมาอธิบาย แต่สุดท้ายถ้าดูกราฟการระบาด ในมุมมองของผมเห็นว่าเรายังอยู่ในเวฟ 3 อยู่” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า หากพิจารณาตัวเลขหลังจากการคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน จะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์เพื่อประเมินว่าจะมีเคสเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ซึ่งหากนับจากการคลายล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา จะเห็นตัวเลขที่สุกงอมในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม 2564

ทั้งนี้ ทั่วโลกจะมีการนำการระบาดในแต่ละระลอกเพื่อดูขาขึ้น-ขาลง สำหรับขาลงในบางประเทศจะลงมาถึงศูนย์ หรือบางประเทศไม่ถึงศูนย์ แต่ก็จะมีช่วงเวลาที่กดลงมาได้และนิ่ง ส่วนใหญ่จะนิ่งเมื่อเข้าสู่ระดับเบสไลน์ที่จะอยู่ประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่ถ้าจากนั้นควบคุมการระบาดได้ไม่ดี ตัวเลขก็จะขึ้นมาใหม่และกลายเป็นการระบาดระลอกถัดไป

“ผมมองว่าการระบาดระลอกที่ 3 ของประเทศไทยเป็นเวฟที่ใหญ่เหมือนเป็นภูเขาโต๊ะ โดยที่บนเขามีภูเขาไฟลูกใหญ่อยู่หลายลูก ไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ เพราะมาตรการที่ใช้ไม่ได้เป็นการตัดวงจรการระบาด” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของโรคระบาดถ้ายังมีการติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ หรือยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดในประเทศได้ ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อขยายวงไปเรื่อยๆ และมีโอกาสปะทุความรุนแรงได้ทันทีที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม อาทิ การเปิดกิจการ กิจกรรมที่มีความแออัด ฯลฯ

“จากข้อมูลทั่วโลกที่ผมตามอยู่ในเวฟที่ 3 เมื่อตัวเลขขึ้นถึงขีดสูงสุดแล้ว หากมีการใช้มาตรการเข้มข้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 69 วัน จึงจะลดลงมาถึงเบสไลน์ได้ ถ้าช่วงพีคของเราคือกลางเดือน ส.ค. ช่วงประมาณปลาย ต.ค. ก็จะเข้าสู่เบสไลน์ ในกรณีนี้คือถ้ายังคงมาตรการที่เข้มข้นต่อไป แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ฉะนั้นแปลว่าโอกาสที่จะกดตัวเลขให้เข้าสู่เบสไลน์น่าจะยาก หรือนาน” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการประคับประคองการระบาด เช่น ประเทศจีน นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน หรือประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย โดยสิ่งที่รัฐของประเทศนั้นๆ ทำคือการสื่อสารข้อมูลสถานการณ์อย่างละเอียดให้แก่ประชาชน นำเสนอจำนวนการตรวจต่อวันทั้ง 2 วิธี ทั้งการตรวจด้วย RT-PCR และ Antigen Test Kit (ATK) เพราะจะทำให้ประชาชนสามารถประเมินสถานการณ์ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศเหล่านั้นมีการลงทุนด้านการตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้โดยง่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้นมีกำลัง และศักยภาพในการตรวจคัดกรองมากถึงหลักแสนถึงหลักล้านต่อวัน แต่ประเทศไทยทำได้ไม่ถึงแสนเคส

อีกหนึ่งประเด็นสำหรับประเทศไทยก็คือการเตรียมยาให้เพียงพอ และควรเป็นยามาตรฐานสากลตามมาตรฐาน ไม่ควรใช้หลากหลายที่ยังไม่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยทางคลินิกอย่างดีเพียงพอ ที่สำคัญคือการชะลอนโยบายการเปิดประเทศให้ออกไปก่อนจนกว่าจะคุมการระบาดได้ดี เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการระบาดหนักตามมาอย่างรวดเร็ว

รศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 มีหลายหลายชนิด ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เห็นชัดเจน คือช่วยลดการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต แต่จะไม่ได้ช่วยการป้องการการติดเชื้อ ซึ่งจากข้อมูลวิชาการทางการแพทย์มีวัคซีนไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า น่าจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างกันได้แต่ก็จะลดได้ไม่ได้มาก หรือไม่ได้การันตีการลดการติดเชื้อ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนจะเป็นประโยชน์กับตัวคนฉีด เพราะลดโอกาสป่วย-ตาย แต่ยังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อและแพร่ให้ผู้อื่นได้

“เนื่องจากสูตรที่เราใช้มีความหลากหลาย แต่จากข้อมูลพบว่าวัคซีนที่ช่วยเรื่องของการลดติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีน mRAN อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ฉะนั้นตราบใดที่เรายังใช้วัคซีนที่มีการผสมกันอยู่เยอะ หลายสูตร และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันเรื่องของการแพร่เชื้อ การติดเชื้อ เราก็จะมีโอกาสติดเชื้อไปเรื่อยๆ” รศ.นพ.ธีระ กล่าว