ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงแนวทางการขอ "ใบรับรองแพทย์" กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับ "Home-Community Isolation" ให้คลินิก-รพ.ที่รับดูแลเป็นผู้ออกใบรับรอง ส่วนผู้กักตัวเอง-ไม่อยู่ในระบบออกใบรับรองไม่ได้


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ในระยะที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากโทรเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการออกใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันจึงขอแจ้งรายละเอียดว่า กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล การขอออกใบรับรองแพทย์จะต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ออกใบรับรองให้

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้เริ่มมีการใช้ระบบการดูแลรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ในกรณีนี้ต้องให้คลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยรายนั้นๆ เป็นคนไข้ของตัวเองเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกักตัวด้วยตัวเอง โดยไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่น แพทย์ไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในกรณีของการขอใบรับรองผลการตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น หากตรวจจากห้องปฏิบัติการ ให้ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจเป็นผู้ออกใบรับรองผลให้ ส่วนกรณีผู้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) ตามจุดให้บริการต่างๆ ซึ่งจะมีแพทย์พยาบาลจากหลายโรงพยาบาล หลายจังหวัด มาให้บริการตรวจนั้น ในกรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อจะได้ใบรับรองผลการตรวจ ณ จุดคัดกรอง

ในส่วนกรณีที่ผลตรวจเป็นลบและต้องการใบรับรองผล หลังจากตรวจแล้ว 1 วัน สามารถเข้าไปดาวน์โหลดใบรับรองได้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงพยาบาลที่ทำการตรวจ หรือหากหาไม่พบก็สามารถโทรติดต่อสอบถามไปที่โรงพยาบาลนั้นได้โดยตรง อย่างไรก็ตามกรณีที่ตรวจด้วยตัวเองโดยใช้ ATK ทางห้องปฏิบัติการจะไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ ผู้ที่ตรวจด้วยตัวเองอาจใช้การรับรองตัวเอง เช่น ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน แต่วิธีนี้จะใช้เป็นหลักฐานทำธุรกรรม เช่น เบิกประกันสุขภาพ ประกันสังคม ประกันชีวิต ได้หรือไม่ยังไม่ทราบได้

"ส่วนกรณีบริษัทต่างๆ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องมีใบรับรองการติดโควิด-19 เพื่อประกอบการลางาน ให้เป็นการเจรจากันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทางเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่นเดียวกับนายจ้างต้องการให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปยืนยันที่ทำงาน กรณีนี้เป็นการตกลงกันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนให้ได้" ทพ.อรรถพร กล่าว