ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เราถือโทรศัพท์ไว้ข้างหูของหญิงรายหนึ่งที่กำลังจะเสียชีวิต เพื่อให้เธอได้ฟังเสียงบอกลาครั้งสุดท้ายของลูกสาว มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับเรา” 

ซาราห์ กาซเซิร์ด พยาบาลชำนาญการของสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง จากเมืองกลอสเตอร์ ประเทศอังกฤษ บอกเล่าเรื่องราวผ่านหนังสั้นที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งสะท้อนถึงสภาพจิตใจของเหล่าบุคลากรด่านหน้า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
นอกจากผลกระทบทางกายภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องต่อสู้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในช่วงโควิด-19 แล้ว ยังมีผลกระทบทางด้าน”สุขภาพจิต” ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียด ภาวะวิตกกังวล ภาวะโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า หรือต้องเผชิญปัญหากับภาวะนอนไม่หลับ ฯลฯ
 
จากข้อมูลของ WHO ภูมิภาคยุโรป ระบุถึงสถานการณ์บุคลากรด่านหน้าว่า จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเหล่าบุคลากรด่านหน้าในแถบยุโรปเสื่อมสภาพลง ซึ่งเป็นผลมากจากเกิดความเครียดสะสม ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียทางร่างกาย ความกังวลในการถูกตรีตรา หรือแม้กระทั่งความกลัวที่จะตนเอง-คนที่รักจะติดเชื้อ
 
“เราสังเกตเห็นผู้ป่วยในความดูแล รวมถึงหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งที่เสียชีวิตลง ความเจ็บปวดเหล่านี้จะคงอยู่ในความทรงจำของเราไปทั้งชีวิต หนึ่งคนตาย สองคนรอด เราไม่มีวันลืมความเจ็บปวดนี้” นพ.ไอลา เดอมิลิ แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมือง สโคเปีย ประเทศนอร์ทมาซิโดเนีย ระบุ
 
ขณะเดียวกัน พ.ญ.แซนดร้า ปอร์ติลโล ซานเซส แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองมาดริด ประเทศสเปน ระบุผ่านหนังสั้นชุดนี้ว่า แม้ครอบครัวของตนเองจะบอกให้พักผ่อนเพื่อดูแลสุขภาพ แต่สำหรับตนเองนั้นคำพูดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในตัวเลือกเลย
 
“มันน่ากลัวมากนะกับสิ่งที่เราต้องพบเจอในแต่ละวัน ทุกๆ คนที่ทำงานในขณะมีความสำคัญหมด โดยไม่มีใครเป็นส่วนเกิน และด้วยบุคลากรที่มีจำกัด ฉันไม่สามารถปล่อยตัวเองให้ไม่ทำงานได้”
 
“ในทุกๆ ครั้งที่ต้องตัดสินในภายใต้แรงกดดันมหาศาล ทุกครั้งที่ต้องเรียกผู้ป่วยเพื่อเข้ารักษาต่อในห้อง ICU ในขณะที่เหลือเพียง 1-2 เตียงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องตัดสินใจตลอดเวลา และต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของทีมว่าผู้ป่วยรายใดที่จะต้องเข้ารักษา แม้จะรู้ดีว่าผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากทั้งสิ้น” พ.ญ.แซนดร้า ระบุ
 
ถ้อยคำบอกเล่าส่วนหนึ่ง จากบุคลาการด่านหน้าจากหลายประเทศในยุโรป ต่างพากันบอกเล่า อธิบายถึงการทำงานของสภาพจิตใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางร่างกาย และสังคมที่ต้องพบเจอในสถานการณ์การระบาของโควิด-19 ถึงการตัดสินใจที่ยากที่ยากลำบาก การพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดที่ต้องพบเจอหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต
 
“เราต้องการแรงสนับสนุนเพื่อให้ช่วยผ่อนคลายความรู้สึกผิด ในยามที่ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคโควิด-19 เราถือโทรศัพท์ไว้ข้างหูของหญิงรายหนึ่งที่กำลังจะเสียชีวิตเพื่อฟังเสียงบอกลาครั้งสุดท้ายของลูกสาว และมันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องการแรงสนับสนุนในขณะนี้” ซาราห์ กาซเซิร์ด พยาบาลชำนาญการของสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง จากเมืองกลอสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ระบุ
 
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 (ตามเวลาประเทศไทย) เว็บไซต์ นิวส์ เมดิคอล ได้เผยแพร่ผลการศึกษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ จากการศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ 149 คน ในประเทศสเปน 90 และในประเทศเม็กซิโก 59 คน ของช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก พบว่า 57.8% ของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศสเปน ประสบปัญหากับภาวะทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะเครียดฉับพลัน และภาวะซึมเศร้า เช่นเดียวกันกับ 39% ของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศเม็กซิโกที่ต้องพบเจอปัญหาภาวะทางสุขภาพจิต โดยพบว่ามีภาวะของโรคที่คล้ายคลึงกัน
 
อ้างอิง :
https://www.euro.who.int/en/countries/spain/news/news/2021/4/frontline-stories-mental-health-of-health-care-workers-in-the-covid-19-pandemic
https://www.news-medical.net/news/20210712/Study-57825-of-healthcare-professionals-suffered-mental-disorders-during-COVID-19-first-wave.aspx