ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งจะมีการบังคับใช้ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประกอบด้วยการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด ได้แก่
- กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
- ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการในห้วงเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ในส่วนของมาตรการปฏิบัติในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
- ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นและห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
- การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
- กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด
- ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.64 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558