ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในสถานการณ์ที่เตียงรักษาผู้ป่วยวิด-19 ของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย “กรมการแพทย์” จึงออกแนวทาง “การรักษาตัวที่บ้าน” หรือ Home isolation ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการครองเตียง-สามารถสำรองเตียงไว้ให้กับผู้ป่วย “สีเหลือง-สีแดง” ได้ 

“The Coverage” ได้ร่วมรับฟังการเสวนาหัวข้อ “แนวทางการรักษา และ Home isolation” ที่จัดขึ้นโดยกรมการแพทย์ ซึ่งเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับแนวทาง-การปฏิบัติของผู้ป่วย ตลอดจนมาตรการ “Community isolation” หรือการแยกรักษาตัวในชุมชน ที่จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญนับจากนี้

ถ้ามีเตียงพอ ... เราไม่ทำ Home isolation

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า ในเรื่องของเตียงในสถานการณ์โควิด-19 นั้น กรมการแพทย์มีการเฝ้าระวังมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่ามีการเตรียมแนวทาง Home isolation ไว้แล้ว แต่ในขณะนั้นยังไม่อยากทำ เนื่องจากยังมีจำนวนเตียงที่เพียงพอ ซึ่งการทำ Home isolation จะทำในช่วงที่เตียงไม่พอเท่านั้น

“ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 2564 พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ใช้เตียงในสถานพยาบาลที่รัฐจัดหาให้อยู่ที่ราว 2.6 หมื่นราย และอาจจะเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นราย นั่นหมายความว่า เรามีเตียงไม่พอแน่ๆ” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ อธิบายต่อว่า ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยต้องนอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน ก็เหมือนเป็นการทำ Home isolation ฉะนั้นจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้โรงพยาบาลจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์มาใช้ดูแลตัวเองที่บ้าน

มากไปกว่านั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย-อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อใช้ติดตามอาการ ซึ่งจะแจกให้กับผู้ป่วยทุกราย และยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลในการจัดส่งอาหาร 3 มื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยออกไปแพร่กระจายเชื้อ อีก 1,000 บาท ต่อวัน 

“ปัจจุบันนี้ยังคงทำเบิกได้แค่เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ส่วนสิทธิประกันสังคมจะมีการเริ่มประชุมอาทิตย์หน้า และคาดว่าวันที่ 10 ก.ค. นี้น่าจะได้ รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมาย-ผิดกฎหมาย เช่นกัน ซึ่งก็จะมีกฎเกณฑ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

แนวทาง ‘Home isolation’ สำหรับผู้ป่วย

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ อธิบายว่า Home isolation เป็นแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน 2 กรณี ได้แก่ 1. ผู้ป่วยที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ระหว่างรอแอดมิทที่โรงพยาบาล และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านเพื่อรอเตียงได้  2. ผู้ป่วยโควิด-19 Step down หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน และจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านด้วยวิธี Home isolation อีก 4 วัน โดยจะมีบุคลากรทางแพทย์คอยตามอาการตลอดระหว่างการกักตัวจนครบ 14 วัน

สำหรับข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ในระหว่างแยกกักตัว ก็คือไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกกักตัว ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากจำเป็นจะต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร กรณีที่ให้นมบุตรยังสามารถให้ต่อได้แต่ต้องใส่หน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยไอ จาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปากหรือถอดหน้ากาก ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันให้ผู้ป่วยใช้เป็นคนสุดท้ายละปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช่ร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น และแยกซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง หรือผ้าขนหนู

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิ และระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ทันที สำหรับการเดินทางเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลนั้น ให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือรถที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ แต่ต้องไม่ใช่รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง และหากมีผู้ร่วมพาหนะให้เปิดกระจกเพื่อระบายอากาศ

ในส่วนของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การพิจารณา ต้องเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สบายดี หรือไม่มีอาการ มีอายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อาศัยอยู่คนเดียว หรือมีผู้ร่วมพักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.) จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ภาวะอ้วนเป็นภาวะสำคัญที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้ รวมไปไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

การดำเนินการของโรงพยาบาลนั้น จะมีการประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อ ตามดุลยพินิจของแพทย์ พร้อมทั้งจัดให้มีลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน แนะนำการปฏิบัติตัวให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ ถ้าสามารถถ่ายภาพรังสีทรวงอกในวันแรกที่วินิจฉัยได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องติดตาม-ประเมินอาการผู้ป่วยระหว่างแยกตัวที่บ้าน โดยให้ผู้ป่วยวัดอุณหภูมิ และออกซิเจน แจ้งทางโรงพยาบาลทุกวัน

ความพร้อมชุมชนทำ ‘Community isolation’

พญ.นฤมล อธิบายต่อว่า การแยกกักตัวในชุมชน (Community isolation) จะเป็นกรณีที่มีผู้ติดเชื้อในชุมชนเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับปริมาณของคนที่ในชุมชน ซึ่งก็จะมีการจัดระบบการดูแลรักษาในชุมชน เพื่อให้มีการวินิจฉัยได้เร็ว-ลดการแพร่ระบาดในชุมชน-เสียชีวิต ทั้งนี้การจะแยกกักตัวในชุมชนก็อาจจะยังต้องมีการปรับพื้นที่บางส่วนให้เป็นสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการเคลื่อนเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของผู้ป่วยในชุมชน

อย่างไรก็ตาม การแยกกักตัวในชุมชนนั้นอาจจะเป็นหมู่บ้าน หรือแคมป์คนงานก็ได้ โดยที่คนในชุมชนต้องยอมรับผู้ป่วยในชุมชนได้ มีสถานที่จัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วย ในปริมาณที่ไม่เกิน 200 ราย สามารถจัดตั้งจัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือสิ่งแวดล้อม ต้องถูกสุขลักษณะ หรือได้รับการปรับปรุงเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคออกไปนอกชุมชนได้

ทั้งนี้ การแยกกักตัวในชุมชนจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ ความพร้อมของสถานที่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุดก็คือคณะกรรมการโรคติดต่อของชุมชน หรือจังหวัด โดยจะมีการพิจารณาตามระดับอาการของผู้ป่วย และผู้ต้องสงสัยที่จะติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้มีการตรวจโดยห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงสถานที่ตั้งของชุมชน สามารถปิดกั้น-แยกออกจากชุมชน มีพื้นที่จัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วย และสภาพแวดล้อมภายในศูนย์ เช่น การระบายอากาศ ระบบสุขาภิบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

“เกณฑ์การรับผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนจะแตกต่างออกไปจากผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และไม่ต้องอาการออกซิเจนในการรักษา ซึ่งการแยกกักตัวในชุมชนนั้นสามารถรับเกณฑ์นี้ได้ทุกลุ่มอายุ” พญ.นฤมล ระบุ

พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 15 ราย

พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ บอกว่า สิ่งที่โรงพยาบาลต้องจัดเตรียมคือทีมที่จะดูแลผู้ป่วย โดยภายในทีมนั้นจะต้องมีแพทย์อย่างน้อย 1 คน และพยาบาลในอัตราส่วนที่คำนวณไว้คือ พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 15 ราย และเภสัชกร 1 คน ต่อผู้ป่วย 30 ราย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยไม่มีเตียงนั้นมาจากเบอร์สายด่วนต่างๆ เช่น 1668  เมื่อทราบแล้ว ทางสายด่วนก็จะติดต่อไปที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งหน้าที่ของโรงพยาบาลก็คือการติดตามผู้ป่วยผ่านการวีดิโอคอล หรือ Telemedicine มีการส่งยา-อุปกรณ์ทางการแพทย์-อาหาร ให้กับผู้ป่วยที่บ้าน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าโครงการ Home isolation นอกจากจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของกรมการแพทย์แล้ว ยังต้องรายงานอุณหภูมิร่างกาย-ค่าออกซิเจนที่ได้จากการวัดปลายนิ้ว ส่งให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล วันละ 2 ครั้งทุกวัน ส่วนในกรณีฉุกเฉินก็จะมีเบอร์สายด่วน ที่จะสามารถติดต่อกับพยาบาล-แพทย์ที่ดูแลเพื่อรับผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล

“ทาง สปสช. จะพิจารณาเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ฉะนั้นโรงพยาบาลก็จะต้องเตรียมทีมเวชระเบียน แต่อาจจะไม่เท่ากับเวชระเบียนสำหรับผู้ป่วยในปกติ” พญ.ปิยะธิดา ระบุ

พญ.ปิยะธิดา กล่าวต่ออีกว่า ทางกรมการแพทย์เองได้มีการนำร่องทำ Home isolation ที่โรงพยาบาลราชวิถีมาแล้ว 2 เดือน โดยมีผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงนำร่อง 18 ราย ก่อนจะมีการประกาศนโยบายออกมา และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยในโครงการทั้งหมด 31 ราย

‘ราชวิถี’ นำร่อง Home isolation แล้ว

นพ.กนกพจน์ จันทร์ภิวัฒน์ โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า โรงพยาบาลราชวิถีเริ่มดำเนินการนำร่องมาแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2564 โดยทางโรงพยาบาลจะได้รับรายชื่อของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองจากส่วนกลาง เบอร์สายด่วน 1668 เป็นหลัก แต่ก็จะมี 1669 และ 1330 ส่วนหนึ่ง หลังจากนั้น ทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยลงทะเบียนผ่าน ไลน์ แอพพลิเคชัน และเมื่อมียืนยันแล้วว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การทำ Home isolation ก็จะมีการส่งเครื่องมือ-อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลราชวิถีกำหนดอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ 3 ชิ้น ได้แก่ อุปกรณ์วัดความดัน ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดทางปลายนิ้ว โดยในกล่องที่ทางโรงพยาบาลส่งไปให้นั้นจะมีคู่มือ-คำแนะนำการใช้งาน แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการเพิ่ม “ใบยินยอมรับการรักษา” ให้กับผู้ป่วยโรควิด-19 เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการ และเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายกับ สปสช.

นพ.กนกพจน์ อธิบายต่อไปว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัวที่บ้านที่อยู่ในความดูแลของราชวิถีนั้น จะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน “DMS telemedicine” ซึ่งเดิมทีจะใช้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยลดความแออัด-ลดการเดินทางของผู้ป่วย โดยกำหนดติดตาม-สอบถามอาการผู้ป่วย วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ซึ่งในขณะนี้ทางโรงพยาบาลราชวิถี มีการเพิ่มการจัดส่งอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ป่วย โดยเริ่มนำร่องไปแล้ว เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในระหว่างการติดตามอาการ ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง แพทย์ก็จะประเมินและพิจารณารักษาเพิ่มเติม เช่น การส่งต้านไวรัสยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ โดยข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีผู้ป่วย 1 รายที่ทางโรงพยาบาลมีการส่งยาชนิดนี้ไปให้ที่บ้าน และติดตามอย่างใกล้ชิด

“ในกรณีที่ผู้ป่วยที่อาการดูมีการเปลี่ยนแปลง ทางโรงพยาบาลราชวิถีก็จะเป็นตัวกลางช่วยประสานงาน เพื่อหาโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ” นพ.กนกพจน์ กล่าว

ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าโครงการ Home isolation ไปแล้ว จำนวน  31 ราย โดยใน 31 รายนั้นมีผู้ป่วยที่จบการรักษาครบ 14 วันแล้ว จำนวน 13 ราย ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 3 ราย และผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 ราย นั่นหมายความว่ามีผู้ป่วยวิด-19 จำนวน 13 ราย ที่โรงพยาบาลกำลังติดตามดูแลอยู่

โควิดกับ ‘เด็ก’ ความท้าทายใหม่ที่ต้องเรียนรู้

รศ.พิเศษ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอร์พิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ในการระบาดระลอกที่ 3 มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 162 ราย ถือว่าสูงที่สุด เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก 14 ราย และรอบที่สอง 14 ราย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าติดต่อจากผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันเป็นส่วนใหญ่

ทางสถาบันฯ ยังพบว่าความรุนแรง 56.84% ของเด็กที่ติดเชื้อนั้นจะมีอาการทางหายใจส่วนต้น รองลงมา 28.42% ไม่มีอาการ 7.37% มีอาการปอดอักเสบ เป็นต้น ส่วนอาการทางคลินิกทั่วไปจะพบมากที่สุดก็คืออาการ ไอ

ทั้งนี้ เด็กถือได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ฉะนั้นทางสถาบันฯ ต้องมีข้อมูลที่มากพอเพื่อที่จะสามารถให้คำตอบผู้ปกครองได้อย่างมั่นใจ จึงเป็นที่มาของการทบทวนข้อมูลที่ได้จากการดูแลเด็กที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ประมาณ 160 ราย และยังมีข้อมูลที่ยังวิเคราะห์ไม่เสร็จอีกกว่า 100 ราย

“ความท้าทายของผู้ป่วยก็คือช่วงอายุที่มีความหลากหลาย และเนื่องจากเป็นผู้ป่วยเด็ก ก็จะต้องมีการสอนให้ใช้เครื่องวัดออกซิเจน-ปรอทวัดไข้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ยังต้องมีการบ้านให้ทำพอสมควร เช่นการวัดชีพจรในเด็ก การวัดอัตราการหายใจของเด็กในแต่ละที” รศ.พิเศษ พญ.วารุณี ระบุ

รศ.พิเศษ พญ.วารุณี เผยต่อว่า ทางสถาบันฯ ยังพบความท้าทายในการดำเนินการจัดส่งอาหาร ได้แก่ ไม่มีพื้นที่ตู้เย็นเพียงพอในกรณีที่ในบ้านเดียวกันมากกว่า 2 ราย เนื่องจากทางสถาบันฯ ต้องบริหารค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งอาหารให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งจำเป็นจะต้องส่งอาหารให้กับผู้ป่วยทีเดียว 5 วัน โดยเน้นอาหารแห้ง-อาหารที่สามารถเก็บในช่องแช่แข็ง

นอกจากนี้ ยังมีสภาพการจราจรในพื้นที่บ้านของผู้ป่วย รวมไปถึงกรณีที่ไม่สามารถผู้ปกครองได้ หรือแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ผิด ซึ่งก็จำเป็นต้องขอไว้หลายๆ หมายเลข มากไปกว่านั้น ถ้าทางสถาบันฯ มีการเตรียมอาหารจัดส่งโดยคิดค่าบริการ rider ตามระยะทางจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ต่อไป