ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแห่งอังกฤษเสนอหลักการ “สามเหลี่ยม” ความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ความต้องการของประชาชน ทรัพยากร และนวัตกรรม

แมตต์ แฮนคอกค์ (Matt Hancock) เลขาธิการแห่งรัฐเพื่อการดูแลสุขภาพและสังคม หรือเทียบเท่ากับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวปราศรัยในระหว่างการประชุมประจำปีของ National Health Service หรือ NHS ในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยประชุมผ่านระบบวิดีโอออนไลน์

NHS เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอังกฤษ ซึ่งใช้ชื่อเดียวกันกับองค์กร มีบทบาทสำคัญในการรับมือโรคระบาดโควิด 19 รวมทั้งเป็นกลไกกระจายวัคซีนให้กับประชาชน

แฮนคอกค์ กล่าวในระหว่างการปราศรัยว่า NHS มี 3 ภารกิจหลัก คือ การตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ของประชาชน การบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น และการสร้างนวัตกรรมที่จะทำให้บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งสามภารกิจ เปรียบเสมือนด้านของสามเหลี่ยม แต่ละด้านเสริมหนุนซึ่งกันและกัน ขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ทั้งสามภารกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ (ระบบสุขภาพ) ฟื้นคืนกลับมาหลังโรคระบาดโควิด”

ความต้องทางการแพทย์:

มีสองประเด็นหลัก คือ การเตรียมการบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และการลดความต้องการทางการแพทย์ในอนาคต

ในช่วงโรคระบาด มีผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 7.1 ล้านคนในอังกฤษ ที่ถูกเลื่อนการรับบริการทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 และจะสร้างแรงกกดดันให้กับระบบสุขภาพเมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไป NHS จึงต้องเตรียมการรับมือความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการจ้างบุคลากรเพิ่ม

อีกด้านหนึ่ง เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพ NHS ก็ต้องทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เพื่อลดความต้องการทางการแพทย์ในอนาคต

โดยไม่ให้คนมาแออัดที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคที่ปลายทาง ต้องเน้นการทำระบบปฐมภูมิที่ดี ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ด้วยแนวทางสุขภาพประชากรแบบองค์รวม (Population health) ที่เน้นส่งเสริ่มให้คนมีสุขภาพดีตั้งแต่ต้นทาง

ทรัพยากร:

ประกอบด้วยเงินและคน ในส่วนของเงิน รัฐบาลอังกฤษทุ่มเม็ดเงินไปมากกว่า 92,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท) ในการต่อสู้กับโรคโควิด NHS ยังเตรียมงบประมาณไว้อีก 7,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) สำหรับการรับมือโรคระบาดและการฟื้นฟูระบบสุขภาพในปีนี้

เม็ดเงินนี้ยังครอบคลุมค่าจ้างของบุคลากรทางการแพทย์ โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา NHS จ้างหมอเพิ่ม 5,600 คน พยาบาล 10,800 คน ทำให้มีบุคลากรในระบบรวม 58,300 คนในตอนนี้

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบสุขภาพจะมีทรัพยากรที่เพียงพอ ตอบความต้องการของประชาชน  NHS จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร และกลุ่มผู้ป่วย เพื่อเพิ่มทรัพยากรในระบบสุขภาพ แทนที่จะพึ่งพาแต่ทรัพยากรของรัฐเพียงอย่างเดียว

นวัตกรรม:

โรคระบาดทำให้ผู้เล่นในระบบสุขภาพ รวมถึง NHS ต้องเร่งนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อรับมือกับโรคระบาดและความต้องการของประชาชน เช่น การใช้โทรเวชกรรม (Telemedicine) เยอะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หรือการใช้แอพพลิเคชัน NHS ในการให้ข้อมูลกับประชาชน ทั้งยังมีระบบ NHS 111 ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์ออนไลน์ให้คำปรึกษากับประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมในระบบ NHS รัฐบาลอังกฤษได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สุขภาพและการดูแล (Health and Care Bill) เพื่อจัดโครงสร้างขององค์กร NHS ลดความเทอะทะของระบบราชการ และข้อจำกัดในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นอุปสรรคของการจัดหาและบูรณาการนวัตกรรมด้านสุขภาพเข้ามาในระบบ

การเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่วนหนึ่งมาบทเรียนในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด ซึ่งหากยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิม จะทำให้การจัดซื้อและการกระจายวัคซีนทำได้ยากมาก แต่รัฐบาลอังกฤษก็พักกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้สามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถฉีดวัคซีน 70 ล้านโดสได้ภายในเวลา 6 เดือน

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพและการดูแล จะทำให้ข้าราชการมีความเป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการดึงคนและทรัพยากรนอกหน่วยงานราชการ และข้ามเครือข่าย เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการระบบ NHS

ข้อดีของการมีส่วนร่วมจากผู้เล่นข้ามเครือข่าย เห็นได้จากการบริหารจัดการวัคซันที่มีการดึงส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และอาสาสมัคร เข้ามาช่วยงานในศูนย์ฉีดวัคซีนของรัฐบาลได้ ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

แฮนคอกค์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพและการดูแล นับเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพสำคัญ ที่ที่เกิดขึ้นในระหว่างโรคระบาด

ยังมีการปฏิรูปอีก 2 ด้านที่เกิดขึ้น หนึ่ง คือ การเสนอให้การส่งเสริมและป้องกันโรคเป็นวาระหลักของ NHS ซึ่งหมายถึงว่าในอนาคต NHS จะเพิ่มงบประมาณในด้านนี้ให้มากขึ้น ด้วยอัตราการเพิ่มที่รวดเร็ว เพื่อให้คนสุขภาพดี ลดการมารักษาที่โรงพยาบาล

สอง คือ การตั้งเป้าหมายเพิ่มงบประมาณบริการด้านสุขภาพจิตในระบบ NHS เพื่อยกระดับบริการด้านสุขภาพจิต ให้มีความสำคัญพอๆ กับสุขภาพร่างกาย เพราะทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน

ในตอนท้ายของการปราศรัย แฮนคอกค์กล่าวขอบคุณและชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่ยังคงตั้งใจทำงานภายใต้แรงกดดันในระบบสุขภาพ ที่เกิดจากโรคระบาด และเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การก่อตั้งระบบ NHS เมื่อ 73 ปีก่อน

เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และให้กำลังใจเพื่อผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน พร้อมเชิญชวนทุกคน

“ทำหน้าที่ด้วยการสร้างระบบสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก”

อ้างอิง
https://www.gov.uk/government/speeches/building-the-best-health-system-in-the-world