ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อได้ยินข่าว “รัฐบาลปากีสถาน” ส่งเครื่องมือทางการแพทย์ช่วยประชาชน “อินเดีย” ที่ประสบภัยพิบัติจากโควิดอย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้แล้ว อดไม่ได้ที่จะชื่นชม นี่คือความงดงามยิ่งของมนุษย์ แม้เคยมีความทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันก็มีการคิดช่วยเหลือกันด้วยการที่เป็นประเทศที่อยู่ติดกัน

การที่ “สหรัฐอเมริกา” ตัดสินใจส่งวัคซีนที่คาดว่าจะไม่ได้ใช้ มาให้ประชาชนอินเดียที่มีความต้องการใช้ ถือเป็นความงดงามยิ่ง การที่ “จีน-รัสเซีย” จะให้วัคซีนแก่ “ไทย” มาบางส่วน ก็ถือว่าเป็นความสง่างามของประเทศทั้งสอง

โครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลก ถือเป็นพันธกิจที่นานาชาติร่วมมือกันในการจัดหาวัคซีนโควิดให้ประเทศที่มีโอกาสน้อยหรือแทบไม่มีเลย หากให้กลไกตลาด ใครมีเงินมากกว่าได้วัคซีนไปใช้ แต่เพียงกลไกเดียว ประเทศที่มีกำลังซื้อน้อยกว่าย่อมขาดโอกาส

แม้แต่ประเทศอินเดียที่ประสบปัญหาอย่างมากจากโควิดระบาดในขณะนี้ ก็ได้เคยส่งวัคซีนไปช่วย “ประเทศพม่า” เพื่อนบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า จะเห็นได้ว่าหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ประเทศเหล่านี้มีวัคซีนใช้ก่อนหลายประเทศ

เพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่ “ฟิจิ” ซึ่งเป็นเกาะ ได้รับวัคซีนไปกว่าเดือนเศษแล้ว ในขณะที่ขณะนั้นยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเลย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดจากผู้เดินทางเข้าประเทศแต่ยังมีจำนวนน้อย

เมื่อปีที่แล้ว ตอนโควิดระบาดใน “ประเทศไทย” แนวทางการรักษายังไม่ชัดเจนเท่าปัจจุบัน วงการแพทย์และเภสัชกรรมยังหาแนวทางการรักษาที่มีผลดีที่สุด โดยที่สามารถมีกำลังทรัพย์ในการจัดซื้อหามาได้ จำได้ว่าขณะนั้น ประเทศไทยได้รับยาจำนวนหนึ่งมาใช้ในการรักษาจากประเทศจีน ยามที่ประเทศใดมีโอกาสมากกว่าและแบ่งปันจึงเป็นความงดงาม

การพึ่งพิงช่วยเหลือกันตามกำลังศักยภาพของแต่ละประเทศ ในกรณีภัยพิบัติ-โรคระบาด นอกจากเป็นเรื่องอุดมคติ อุดมการณ์ และหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังเสริมสร้างวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารีมีเมตตาต่อกัน อันควรเป็นคุณลักษณะของประเทศทุกประเทศที่อยู่ร่วมกันในประชาคมโลก ดีกว่าที่จะทำสงครามต่อสู้กัน หรือตั้งตนเป็นศัตรูไม่ไว้วางใจ เสียเงินทองมากมายในการรบพุ่งทำลายกัน

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ที่ผ่านมา “ประเทศไทย” มีบทบาทในเรื่องนี้ไม่น้อย ในการได้มีการส่งสิ่งของที่จำเป็นไปช่วยเหลือตามแต่เหตุการณ์ นอกจากการช่วยเหลือในลักษณะโดยรัฐแล้ว ที่โดดเด่นในฐานะบุคคลผู้มีจิตสาธารณะ คือ ศ.ดร.ภก. กฤษณา ไกรสินธุ์ ที่ท่านได้อุทิศตนหลังจากที่สามารถคิดค้นผลิตยาต้านไวรัสสูตรผสม หาช่องทางแหวกวงล้อมจากสิทธิบัตรยา ทำให้ประเทศไทยมียาต้านไวรัสให้แก่ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยจำนวนมากรอดชีวิตได้ และต่อมาได้เดินทางไปช่วยการจัดตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศหลายประเทศในแอฟริกา ที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรเทาการเสียชีวิตลง

แม้ว่าวัคซีนดูจะเป็น “พระเอก” ในสนามรบโควิด โดยประเทศไทยกำลังต้องการอย่างมาก ในขณะที่มีความมุ่งมั่นของสถาบันวิชาการ ทั้งคณาจารย์นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะใช้ mRNA มาทำเป็นวัคซีนโควิด และ คณาจารย์นักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะนำโปรตีนจากใบยามาทำวัคซีนโควิด ที่กำลังเร่งพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนมาต่อสู้กับโรคโควิด

แต่เนื่องจากความจำกัดทั้งด้านนโยบายและทรัพยากรในการส่งเสริมและพัฒนายาและวัคซีนของประเทศ การที่จะได้รับวัคซีนในระยะเวลาเร่งด่วนมาใช้อาจต้องให้เวลาอีกระยะหนึ่ง

สำหรับ “ยารักษาโรค” ที่ถือเป็นยุทธปัจจัยที่ไม่ยิ่งหย่อนไม่น้อย เนื่องจากเป็นการรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ป่วยแล้ว เพื่อการให้หายป่วยหรือการรักษาชีวิต อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงทางยาของประเทศอยู่บ้าง โดยสามารถดำเนินการตอบสนองความจำเป็นเมื่อเกิดปัญหาโรคภัย เช่น โรคระบาดที่รุนแรง และมีผู้ป่วยจำนวนมาก 

การมีองค์การเภสัชกรรม ที่มีการออกแบบไว้รองรับการสร้างความมั่นคงของประเทศในการผลิตยาจำเป็น และได้พิสูจน์บทบาทในการผลิตยาจำเป็นจากการที่กลไกตลาดด้านยาตามปกติล้มเหลว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ เช่น กรณียากำพร้าที่ไม่มีผู้ผลิตจำหน่าย กรณียาที่ต้องผลิตหรือจัดหาจากการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจามประกาศของรัฐ หรือ กรณียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและขาดแคลน หรือ ต้องการเป็นจำนวนมากในช่วงมีภัยพิบัติเป็นต้น

ในโลกทุนนิยม การให้มี “สิทธิบัตร” ถือเป็นกลไกเชิงพัฒนาที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ผลิตคิดค้นนวัตกรรม ที่จะได้รับการตอบแทนที่ผู้จะมาใช้ประโยชน์ต้องจ่ายให้ ผู้ถือสิทธิบัตรมีสิทธิในการที่จะอนุญาตการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าตามแต่การตกลงการตอบแทนที่ตกลงกันได้ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการประดิษฐ์คิดค้นสินค้านวัตกรรมที่นำไปสู่การจดสิทธิบัตรได้

การมีกฎกติกาและกลไกรองรับตามกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อให้การใช้กลไกสิทธิบัตรเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในลักษณะที่คิดค้นได้รับการตอบแทนและผู้ใช้ประโยชน์ต้องจ่ายตามความต้องการหรือความจำเป็น

ในหลายกรณี กลไกดังกล่าวไม่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคม เช่น กรณีการเกิดโรคระบาด หรือ ความจำเป็นทางสาธารณสุข จึงให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้รัฐสามารถใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ที่เรียกว่า compulsory licensing หรือ ซีแอล โดยมีแนวทางการใช้ที่ตกลงยอมรับในระดับนานาชาติ

“ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ใช้รักษาโรคโควิดในปัจจุบัน ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์และเภสัชกรรม ในฐานะยาชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในมาตรฐานการรักษา ในระยะที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเข้ายานี้มาตลอดโดยยังไม่ได้ทำการผลิต แม้ว่ายาจะมีราคาสูง แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนไม่มาก และยังไม่มีความขาดแคลน จึงไม่มีผลกระทบทั้งงบประมาณและปัญหาการไม่มียาใช้

แต่ในขณะนี้มีการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น มีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ยานี้จึงมีบทบาทอย่างสำคัญ ทั้งการจัดหายาให้พอเพียงสอดรับกับทั้งความต้องการเร่งด่วนและงบประมาณที่จำกัด

โดยความเป็นจริงแล้ว เหตุผลเหล่านี้น่าจะพอเพียงที่รัฐจะดำเนินการขจัดกลไกที่เป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้สามารถผลิตหรือจัดหายามาใช้กับประชาชน ด้วยปัญหาการระบาดของโรคโควิดเป็นภัยพิบัติที่คุกคามชาวโลกไม่เพียงประเทศไทย

เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่องค์การเภสัชกรรม ได้แจ้งต่อสาธารณะว่ามีความพร้อมที่จะทำการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นหลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งว่า รัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกตอบสนองความมั่นคงทางยา สามารถแสดงบทบาทได้ตามที่ได้มีการออกแบบไว้ตามหลักคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นเรื่องที่ยิ่งน่ายินดีอีกว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีความต้องการในขณะนี้ ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศไทย ในการใช้รักษาโรคโควิด แต่กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นคำขอ และยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมว่า สมควรหรือไม่ที่จะอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทสไทย เนื่องจากเป็นการดัดแปลงสูตรตำรับ มิใช่เป็นยาใหม่ โดยไม่ได้มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น

การปลดล็อคเพื่อให้ องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางยาในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อนำมาเป็นยุทธปัจจัยในส่งครามโควิด จึงเป็นเรื่องที่รัฐไม่สามารถหาเหตุผลใดมาหลีกเลี่ยงได้ กลับทั้งยังต้องแสดงบทบาทนำเพื่อบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษาชีวิตของประชาชนที่ได้รับภัยจากโควิด และทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลทั้งแพทย์และเภสัชกรมียาเป็นอาวุธในการสู้สงครามโควิด

การดำเนินการของรัฐในการพิจารณาการขออนุญาตสิทธิบัตรอย่างเร่งด่วนโปร่งใสด้วยหลักวิชาการในภาวะความจำเป็นในขณะนี้ จะพิสูจน์ศักยภาพของรัฐในการใช้กลไกสิทธิบัตรอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม เพราะต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในภาวะที่ประเทศมีความต้องการใช้ยา

ในกรณียาฟาวิพิราเวียร์ หากมองด้วยสายตาที่ยาวไกล รัฐบาลไทยกำลังจะได้รับโอกาสที่เหนือกว่าการที่จะทำให้ประชาชนไทยได้ใช้ยา แพทย์และเภสัชกรมียารักษาโรคในประเทศแล้ว และโดยที่ ศักยภาพในการผลิตยาขององค์การเภสัชกรรมอยู่ในระดับสูงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ นอกจากจะทำให้มียาใช้ในประเทศไทยอย่างพอเพียงแล้ว หากมีเหลือจากการตอบสนองความต้องการของประเทศแล้ว  ยาฟาวิพิราเวียร์จะเป็นของขวัญมิตรภาพ และเป็นทูตมนุษยธรรมด้านสุขภาพของประเทศไทย ในการช่วยเหลือและสนับสนุนนานาประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังต่อสู้ภัยโควิดและมีความต้องการยาและเวชภัณฑ์ มอบให้ประเทศเหล่านี้ตามที่ประเทศไทยก็เคยได้รับ และอาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไปในความไม่แน่นอนของอนาคต