ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ล็อก 4-5-6 ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งครอบครัว รวม 6 ราย

ล็อก 1-2-3 ติดเชื้อแล้ว 2 ราย

พบการระบาดที่แฟลต 10 เพิ่มอีก 1 ราย

ส่วนแฟลต 11-18 มีผู้ป่วย 1 ราย

ทั้งหมดเกิดขึ้นใน “ชุมชนแออัดคลองเตย”

ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2564 คนในชุมชนคลองเตยติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 11 ราย เบื้องต้นทุกคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งหมายถึงการกักตัวอยู่ประชิดผู้คนหนาแน่นกว่า 1,600 หลังคาเรือน

นอกจากความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดติดต่อกันเป็นวงกว้างแล้ว ด้วยข้อจำกัดของชุมชนแออัด-กลุ่มคนเปราะบาง ทำให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคต่อการดูแลอาการป่วยไข้

“จำเป็นต้องแยกตัวผู้ติดเชื้อเหล่านั้นออกมาจากชุมชน เพื่อจัดระบบดูแลอย่างเหมาะสม” นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระดับประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มหาศาล ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันก็ทะลุ 2,000 คนเข้าไปแล้ว

โรงพยาบาลขนาดใหญ่กำลังปริ่มๆ จวนจะเกินศักยภาพที่แบกรับไหว รัฐบาลระดมเสริมเตียงโรงพยาบาลสนาม ทว่าก็อยู่บนเงื่อนไขที่มีบุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม

แล้วที่ทางชาวคลองเตย-กลุ่มคนเปราะบาง อยู่ตรงไหน ?

พระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน เสนอให้ใช้พื้นที่ “วัดสะพาน” ในการรับมือสถานการณ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย ดำเนินการทันที

นพ.ประทีป เล่าว่า ได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายและเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องแยกตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยออกมาเป็นการด่วน เพื่อให้การดูแลเบื้องต้นอย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด

จึงได้นำร่องคลองเตยโมเดล ต้นแบบการจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคโดยชุมชน ด้วยการใช้พื้นที่ “วัดสะพาน” จัดตั้งเป็น “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจชุมชนคลองเตย” ซึ่งจะเปิดในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เป็นแห่งแรกของ กทม.

สำหรับศูนย์พักคอยดังกล่าว จะบริหารจัดการและดูแลโดยคณะกรรมการของชุมชนภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำหน้าที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แยกตัวออกมาจากชุมชนแออัด เพื่อให้การดูแลเบื้องต้น ตลอดจนประสานจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก หรือโรงพยาบาลสนาม

“เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนคลองเตย คือการสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลักในการตระเตรียมที่ดูแลหรือศูนย์พักพิง ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และลดอัตราการแพร่ระบาด โดยมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่ชุมชนแออัดอื่นๆ ใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งเตรียมการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก” นพ.ประทีป ระบุ

นพ.ประทีป บอกอีกว่า นอกจากการตั้งศูนย์พักคอยแล้ว ในชุมชนยังมีการตั้งคณะทำงานต่อต้านเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตย 1 คณะ มีทีมย่อย 2 ทีม คือ 1. ทีมศูนย์พักคอย โดยเจ้าอาวาสวัดสะพานเป็นประธาน 2. ทีมประสานงานข้อมูลข่าวสาร มีสายด่วนเป็นช่องทางให้ชุมชนได้สื่อสารกัน โดยศูนย์ประสานจะเป็นตัวแทนประสานต่อกับระบบต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะทำให้ลดความซับซ้อนและสื่อสารได้อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น

ทางด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หนึ่งในหัวแรงสำคัญ บอกว่า การจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจในชุมชนแออัด เพื่อดูแลกันเองเบื้องต้นในระหว่างรอส่งตัวเข้าสู่การรักษาของโรงพยาบาลใช้หลักการ Home isolation

ทว่าแนวคิดเรื่อง Home isolation อาจมีข้อจำกัดในชุมชนแออัด จึงได้ยกระดับเป็น Community isolation โดยมีอาสาสมัครจากเจ้าหน้าที่และประชาชนช่วยกันดูแล และชุมชนตั้งคณะทำงานบริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการพักคอย ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการทดสอบดูจากสถานการณ์ว่าภายใน 24 ชั่วโมงสามารถรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่สถานพยาบาลได้จริงหรือไม่ เพื่อปรับปรุงและพัฒนา ขยายต่อไปยังชุมชนอื่นๆ เนื่องจากการพักคอยแม้เพียง 1 ชั่วโมงในบ้านหรือชุมชน ก็มีความหมายต่อการแพร่เชื้อมาก

สำหรับการจัดตั้งศูนย์พักคอยเป็นปัจจัยที่เสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง มีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ชุมชนที่จะจัดตั้งศูนย์พักคอยได้นั้นต้องมีองค์ประกอบด้านคนที่มีองค์การทำงานอย่างเข้มแข็ง สถานที่มีความพร้อม และการออกแบบศูนย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การประสานงานระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งการจัดระบบอาหารเข้ามาสนับสนุนในการดูแลคน

ขณะนี้ได้มีการประสานกรมควบคุมโรคเพื่อประเมินความพร้อมของศูนย์พักคอย ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ป้องกันแพร่ระบาดของโรค รวมถึงจัดหารถตรวจคัดกรองโรคเชิงรุก และยังมีการตั้งคณะทำงานฮอตไลน์ภายใต้การสนับสนุนของ call center ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเอกชน ทำหน้าที่ตอบคำถามชาวบ้านและจัดทำระบบข้อมูลในพื้นที่

“การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ต้องให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เชื่อว่าโมเดลพื้นที่คลองเตยจะสรุปเป็นบทเรียนขยายไปยังพื้นที่อื่นได้” นพ.วิรุฬ กล่าว

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร อธิบายว่า การจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคโดยชุมชนครั้งนี้ จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบบริการปฐมภูมิที่มีอยู่ในพื้นที่ นั่นก็คือศูนย์บริการสาธารณสุข ใน กทม. ซึ่งมีกําลังของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่จะทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนได้ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความรู้ และการดูแลเบื้องต้นในชุมชน

น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง แสดงความคิดเห็นว่า ได้ทำงานร่วมกับชุมชนคลองเตยมานานและมีประสบการณ์ทำงานเชิงรุกป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนแออัดช่วงการระบาดรอบแรก จึงมั่นใจว่าคลองเตยมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งในระดับที่สามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐและความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“เรามีการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน และมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นแกนกลางการประสานความช่วยเหลือครอบคลุมอีกหลายด้าน เช่น การระดมของบริจาคอาหาร อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และ โครงการคลองเตยดีจังก็ยังมีระบบที่ออกแบบไว้สำหรับแก้ไขสถานการณ์และได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ระบบคูปองอาหาร การจ้างงาน” น.ส.ศิริพร กล่าว

อนึ่ง ภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ อาทิ วัดสะพาน เขตพระโขนง, สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิดวงประทีป ประธานชุมชน สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 10 และ 41 ทีมงานโครงการคลองเตยดีจัง สำนักข่าวไทยพีบีเอส สมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กทม.