ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการ รพ.วิภาราม เสนอฝ่ายวิชาการพิจารณาจ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิด-19 เร็วขึ้น เชื่อลดภาระห้องไอซียูได้เพียบ ระบุ ค่ายาถูกกว่าค่า ICU ด้วย


นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้จะใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำคัญในการรักษาโควิด-19 ได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปอดบวมแล้ว แต่หากสามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ปอดบวม จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยเข้า ICU ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งค่ายาก็ถูกกว่าค่าใช้จ่ายในห้อง ICU ด้วย

นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงยาชนิดอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็มีบางตัวที่สำคัญต่อการรักษาโควิด-19 ฉะนั้นฝ่ายวิชาการจำเป็นต้องเข้ามาดูประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อสถานการณ์และเท่าทันความต้องการในปัจจุบัน

นพ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โรงพยาบาลจำเป็นต้องขยายศักยภาพของตนเอง โดยเฉพาะการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพิ่มเติมเพื่อจัดทำ ICU ซึ่งหลังจากที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เริ่มจ่ายเงินชดเชยค่าบริการรักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลซึ่งเคยติดค้างกันอยู่ ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาเริ่มมีโรงพยาบาลบางแห่งมีปัญหาสภาพคล่องจนต้องกู้ยืมเงินมากขึ้น

“ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ผู้ป่วยมีอาการปอดบวมมากขึ้น ฉะนั้นก็จะมีการใช้ทรัพยากร ICU ซึ่งก็จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่การปรับรอบการจ่ายเงินใหม่ของ สปสช. จากทุก 30 วัน เป็น ทุก 15 วัน ก็ช่วยให้การหมุนเวียนดีขึ้น” นพ.ไพบูลย์ กล่าว

นพ.ไพบูลย์ เผยต่อว่า ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็ได้มีการพูดคุยกับ สปสช. ถึงการอบรมให้กับโรงพยาบาลที่ไม่เคยเรื่องเบิกจ่ายกับทาง สปสช. มาก่อน เพื่อที่จะช่วยทำให้การเบิกจ่ายนั้น เป็นตามรูปแบบ รวมไปถึงการอนุมัติก็จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และถูกต้องเพื่อไม่ให้การหมุนเวียนนั้นสะดุด

อนึ่ง สปสช. ได้ปรับการจ่ายเงินกรณีงบผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงการคัดกรองโควิด-19 จากเดิมทุก 30 วัน เป็นทุก 15 วัน ส่วนกรณีผู้ป่วยใน (IPD)       ยังจ่ายทุก 30 เช่นเดิม ขณะที่งบ UCEP และ UCEP COVID-19 จ่ายทุก 15 วัน