ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.อนุมัติแผนรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ปี 61 เน้นรับฟังต่อเนื่องตลอดปีผ่านระบบออนไลน์ เพิ่มกระบวนการเชิงรุกให้มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง ทั้งรับข้อมูลและส่งคืนข้อมูลย้อนกลับ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ หรือ UHosNET นอกเหนือจาก ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มเปราะบางของพื้นที่

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมพิจารณาวาระแนวทางการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2561 ซึ่งเป็นข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็น ที่มี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน

การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ สปสช.ได้จัดดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2561 นี้จะเป็นครั้งที่ 15 โดยปีนี้ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กลวิธีที่ 4.3 ปฏิรูปการรัปฟังความคิดเห็น โดย 1.เพิ่มความสำคัญของ Stakeholder กลุ่มต่างๆ 2.รับฟังประเด็นเฉพาะ และ 3.ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย

หลักเกณฑ์รับฟังความคิดเห็นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการจัดรับฟังในปี 2560 นั้น กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มเปราะบางของพื้นที่ พร้อมทั้งจะเน้นกระบวนการเชิงรุกให้มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง ทั้งรับข้อมูลและส่งคืนข้อมูลย้อนกลับ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ หรือ UHosNET โดยจะมีการรับฟังต่อเนื่องตลอดปี ผ่านกระบวนการระบบออนไลน์ต่างๆ, การสังเคราะห์จากข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพที่มีการรวบรวมไว้แล้วอย่างเป็นระบบ เช่น งานวิจัย วิชาการ สมัชชาสุขภาพระดับท้องถิ่น และการสอบถามความคิดเห็นในการประชุมที่ สปสช.จัดขึ้น

นอกจากนั้นยังเน้นพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการเสนอความคิดเห็นและสังเคราะห์ข้อมูลทั้งเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคลากร มีการรับฟังความคิดเห็นและการสื่อสารข้อมูลไปพร้อมกัน มีระบบการรวบรวมข้อเสนอและสืบค้นข้อมูลที่ง่ายขึ้น และมีระบบการรวบรวมข้อเสนอและสืบค้นข้อมูลที่ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจน และได้ข้อเสนอเชิงกิจกรรมเพื่อให้องค์กรนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อได้ โดยการจัดรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2561 ใน 13 เขตทั่วประเทศ และจะมีจัดรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศภายในเดือนสิงหาคม 2561

ทั้งนี้ กระบวนการรับฟังความเห็นนับเป็นจุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นการประเมินผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา รับทราบปัญหา พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานและพัฒนาเชิงนโยบาย นอกจากนี้ยังเป็นการนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งในระบบ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประสบผลสำเร็จ และได้รับการยอมรับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา