ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาพัฒน์ฯ ประเมินผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำ 1.13 ล้านครัวเรือนไทยเสี่ยงจนเพิ่ม ส่วนไตรมาส 2 ปีนี้หนักสุด เชื่อคนยากจนพุ่งแตะ 9.1 ล้านราย


น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. ได้ประเมินว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นคนจน 1.13 ล้านครัวเรือน 

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือนประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก เช่น ทำงานในภาคการท่องเที่ยว 4.5 แสนครัวเรือน ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินน้อย ประมาณ 4.9 หมื่นครัวเรือน

ในส่วนของตัวเลขความยากจนจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน จะทำให้คนยากจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยการประเมินในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2563 พบว่าในไตรมาส 1 จะมีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 4.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.4%

ขณะที่ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กระทบต่อไทยสูงสุด จะส่งผลให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 ล้านคน หรือ 14.9% แต่อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น จะทำให้จำนวนคนยากจนในไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงมาที่ 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.7% ซึ่งแนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความยากจนปี 2563 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะไม่สูงมากนัก

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังพบว่าประเด็นปัญหาในช่วงโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยคือ ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ลดลงมาก และกระทบต่อปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในครัวเรือนที่ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมและรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงงานอิสระแรงงานทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

"ในช่วงล็อกดาวน์ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ เช่น เด็กแรกเกิดไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิตามโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้ และไม่ได้รับนมและอาหารกลางวันที่เพียงพอ อีกทั้งประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ เนื่องจากครัวเรือนยากจนมีความยากลำบากที่จะเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทมากต่อการรับมือวิกฤติทั้งในด้านการทำงาน การศึกษา และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ