ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อค้นพบที่น่าสนใจล่าสุดของ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในการศึกษาเรื่อง "High-cost health care users: The search for those in need" ได้พบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 45-48% ของค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลแต่ละปี เกิดจากผู้ป่วยเพียง 5% ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น

การค้นพบนี้สอดคล้องกับประสบการณ์ในหลายประเทศ ที่พบว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพส่วนใหญ่ เกิดจากผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า "ผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง" (High Cost Users)

ผลการศึกษาของ HITAP นี้เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลย้อนหลัง 5 ปี ช่วงระหว่างปี 2557-2561 ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย จำนวนกว่า 30 ล้านรายการ เพื่อหาคำตอบและทำความเข้าใจ ก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอและนโยบายให้มีการจัดระบบการดูแลที่เหมาะสม หรือช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากขึ้นหากเป็นไปได้

ขณะเดียวกันเมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลลงไปเพิ่มเติม ก็ได้พบว่าลักษณะและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่่นอนในโรงพยาบาลที่่มีค่าใช้จ่ายสููง (High Cost Users) กว่า 55% เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 55-56 ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่าปีละ 100,000 บาทต่อคน หรือคิดเป็น 45-48% ของค่าใช้จ่ายสําหรับผู้ป่วยในทั้งหมดในแต่ละปี โดยปัญหาสุขภาพหลักที่พบคือโรคของระบบไหลเวียนโลหิต เนื้องอก และโรคของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งคิดเป็น 52-62%

ในทางกลับกันงานวิจัยนี้ยังได้ศึกษากลุ่ม "ผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ" (Low Cost Users) เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรก ซึ่งพบว่าข้อแตกต่างคือกว่า 55-56% เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 23-25 ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยน้อยกว่าปีละ 3,000 บาทต่อคน หรือคิดเป็นเพียง 9% ของค่าใช้จ่ายสําหรับผู้ป่วยในทั้งหมดในแต่ละปี โดยปัญหาสุขภาพหลักที่พบมาจากโรคติดเชื้อและโรคปรสิต โรคของระบบทางเดินหายใจ การตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด ซึ่งคิดเป็น 39-48%

รศ.ดร.วรรณฤดี อิศรานุวัฒน์ชัย หนึ่งในนักวิจัยของ HITAP ซึ่งทำการศึกษาเรื่องนี้ อธิบายว่า จากตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าระบบสุขภาพมีปัญหาหรือไม่ เพราะข้อมูลเพียงสะท้อนว่าคนกลุ่มนี้มีอยู่จริง หากแต่คำถามคือเมื่อรู้แล้วจะทำอย่างไรกับข้อมูลนี้ต่อไป ซึ่งงานวิจัยนี้ได้พยายามขุดลึกลงไปดูว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นใคร ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคอะไร และจะมีปัจจัยอะไรที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มเป็นกลุ่ม High Cost Users ได้บ้าง

"ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าระบบสุขภาพของสามารถช่วยคนได้จริง แต่ประเด็นคือจะแยกคนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจริง กับคนที่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างไร เช่น สมมุติคนไข้มาโรงพยาบาล 10 ครั้ง เมื่อไปดูรายละเอียดการรักษาแล้วพบว่ามาแค่ 2 ครั้งก็ควรหายได้แล้ว แบบนี้อาจต้องดูรูปแบบบริการว่าเกิดจากอะไร โดยเราพยายามใช้ Real-world DATA มาทำความเข้าใจให้มากขึ้น" รศ.ดร.วรรณฤดี อธิบาย

นักวิจัยรายนี้จึงได้สรุปว่า High Cost Users มีลักษณะคือเป็นเพศชาย อายุมาก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยได้รับการวินิจฉัยในโรคหลัก ได้แก่ เนื้องอก โรคของระบบไหลเวียนโลหิต โรคของระบบทางเดินหายใจ หรือการบาดเจ็บ การเป็นพิษ และผลสืบเนื่องบางอย่างจากสาเหตุภายนอก รวมทั้งมีภาวะโรคร่วม และเข้ารับการรักษามากกว่า 1 ครั้งต่อปี

ฉะนั้นการศึกษานี้จึงเป็นการค้นหาปัจจัยทำนายผู้ที่่มีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสููง เพื่อประโยชน์ในการจัดบริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในอนาคต หากแต่คำถามถัดมาของทีมวิจัยคือจะทำอย่างไรต่อไป เพราะขณะนี้จะรู้ว่าใครเป็น High Cost Users ก็ต่อเมื่อข้อมูลมาถึงส่วนกลางแล้ว ซึ่งไม่สามารถช่วยได้ทัน ดังนั้นในขั้นต่อไปทีมวิจัยจึงพยายามศึกษาเพื่อหาว่าใครที่สามารถแยกออกมาเป็นกลุ่มที่สามารถป้องกันได้บ้าง

"ถ้ารู้ปัจจัยกำหนดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตเวลามีคนมาโรงพยาบาลก็ให้แพทย์กรอกข้อมูล แล้วมี index บ่งชี้ว่าคนคนนี้มีโอกาสใช้บริการสาธารณสุขมาก เพื่อที่แพทย์และพยาบาลอาจต้องเข้ามาดูหรือให้ความสนใจมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามทำการศึกษาในขั้นต่อไป" รศ.ดร.วรรณฤดี ทิ้งท้าย