ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิชาชีพ “พยาบาล” ถือเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ต้องเผชิญทั้งอารมณ์และแรงคาดหวังของผู้ป่วย ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีความเดือดเนื้อร้อนใจ ทั้งเรื่องตำแหน่งงาน เงินเดือน สวัสดิการ และที่สำคัญคือการแบกรับภาระงานที่มากจนหลังแอ่น

“พยาบาล” เป็นวิชาชีพที่ควรค่าแก่การเชิดชู ทรงเกียรติ เป็นทั้งผู้ที่ปิดทองหน้าพระและหลังพระ โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ฟ้าจะเปิดกว้างให้กับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพพยาบาล

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ พยาบาลจะเต็มไปด้วยโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ถึงการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพพยาบาล และอนาคตของพยาบาลในทศวรรษนี้

สังคมสูงวัย โอกาสทางธุรกิจของพยาบาล

รศ.ดร.พูลสุข บอกว่า สถานการณ์ในขณะนี้ชัดเจนว่าทั่วโลกกำลังประสบภาวะทุกข์ยาก มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เห็นถึงความสามารถของวิชาชีพสาธารณสุขในการจัดการสถานการณ์ได้ดี

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีโอกาสเกิดวิกฤตการณ์ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอีก ฉะนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะบางอย่างเพื่อความพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะพยาบาลที่ต้องมีทักษะเรื่องการจัดการโรคระบาด หรือภัยพิบัติ มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเข้าสู่สถานการณ์ผู้สูงอายุที่จะมาพร้อมกับโรคเรื้อรังจำนวนมาก จะต้องมีการดูแลกันยาวนานขึ้น เกิดโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น ตรงนี้จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนพยาบาลเพื่อให้รับต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

รศ.ดร.พูลสุข บอกอีกว่า ที่ผ่านมาพยาบาลมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน แต่ด้วยสถานการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง ทำให้พยาบาลจำเป็นต้องปรับวิธีคิด รู้ข้ามศาสตร์ มีทักษะหลากหลายที่ตอบรับกับสถานการณ์

สำหรับสังคมผู้สูงอายุนั้น ส่วนตัวมองว่าทักษะของวิชาชีพพยาบาลจะสร้างทางเลือกและสามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจได้อย่างหลากหลาย เพราะทิศทางในอนาคตจะมุ่งไปสู่การเป็น Entrepreneur หรือการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม

“ในอนาคตเราต้องสร้างพยาบาลเพื่อไปทำธุรกิจในการดูแลผู้ป่วย เราต้องสร้างพยาบาลที่มีไอเดียด้านธุรกิจควบคู่ไปกับการให้บริการภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพและความรับผิดชอบ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เพราะทุกวันนี้คนไข้ไม่ได้จำกัดอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการการดูแล”

รศ.ดร.พูลสุข อธิบายว่า การทำธุรกิจกับการประกอบวิชาชีพสามารถเดินควบคู่กันไปได้อย่างไม่มีความขัดแย้ง ส่วนตัวคาดการณ์ว่าอีก 10 ปี โรงพยาบาลจะไม่ขยายมากขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ขณะเดียวกันจำนวนของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการก็อาจไม่สามารถรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเป็นบทบาทของพยาบาลที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุได้อีกด้วย

เสริมทักษะเทคโนโลยี-วิเคราะห์ Big Data

รศ.ดร.พูลสุข กล่าวต่อไปถึงการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงว่า การเรียนการสอนในอนาคตต้องสอดคล้องกับนักศึกษา โดยเฉพาะลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ฉะนั้นอาจารย์ผู้สอนก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองด้วย

“จากนี้อาจารย์จะไม่ใช่ครูผู้สอนอีกต่อไป แต่จะต้องเป็น Model หรือเป็น Idol ให้นักศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะต้องใช้วิธีที่เรียกว่า Problem Based learning คือตั้งต้นจากปัญหาเพื่อให้นักศึกษาไปค้นคว้า สร้างสมมุติฐานขึ้นมา แล้วกลับมาถกเถียงกันในเชิงสร้างสรรค์ โดยมีอาจารย์ร่วมในกระบวนการนั้นด้วย

ในส่วนของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ขณะนี้ได้มีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยภายใต้วิสัยทัศน์ “พยาบาลแห่งอนาคต” โดยมุ่งที่จะผลิตพยาบาลที่เชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนเอง มีความรู้ข้ามศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เองได้ ที่สำคัญก็คือมีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

“ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้คุยกันในมิติด้านเทคโนโลยี เรามักจะคุยกันเรื่องความรู้ ความสนใจ ซึ่งทางโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ได้นำมิติด้านเทคโนโลยีเข้ามาใส่ไว้เป็น 1 ใน 3 มิติ การเรียนการสอนพยาบาล ประกอบด้วย 1. ความรู้ทางวิชาชีพ 2. เทคโนโลยี 3. ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างพยาบาลแห่งอนาคต ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

“การปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลจะได้รับกระทบจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนเร็ว ฉะนั้นต้องเรียนรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีทางการแพทย์เสมอ และปัจจุบันต้องมีความสามารถในการจัดการกับ Big Data จากการระบาดได้ด้วย จากข้อมูลมหาศาล พยาบาลต้องวิเคราะห์และดึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาใช้ในการดูแลให้ได้ด้วย”

สำหรับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) “รศ.ดร.พูลสุข” มั่นใจว่าจะไม่มีพยาบาลตกงานจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างแน่นอน เนื่องจากพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เข้าใจหัวอกของผู้ป่วยที่มีความทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI เข้ามาแทนที่ไม่ได้ แต่ AI จะมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมการทำงานของพยาบาลได้มากขึ้น