ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เผยตัวเลขคนไทยบริโภคเครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง เฉลี่ยวันละ 3 แก้ว เกินมาตรฐาน WHO ถึง 4 เท่า แนะผู้ประกอบการ-ประชาชนปรับตัว หลังมีแนวโน้มเลื่อนปรับภาษีน้ำตาล


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่าโดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดื่มเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบว่าเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีปริมาณน้ำตาลสูงเฉลี่ย 9-19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ

"คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินน้ำตาลได้ ด้วยการเปลี่ยนจากการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล มาเป็นการดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวันเพื่อสุขภาพที่ดี แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น ชานม ชาเขียว กาแฟ โกโก้ หรือนมเย็น แนะนำสั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละแก้ว หรือลดขนาดเครื่องดื่มเป็นขนาดเล็กลง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ยังอยากขอความร่วมมือภาคเอกชน หรือร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ในการคิดค้นเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้านของตนเอง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่าย เช่น น้ำอัดลม นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ ควรอ่านฉลากก่อนซื้อ โดยเลือกแบบที่ไม่เติมน้ำตาลเป็นดีที่สุด รองลงมาคือเติมน้ำตาลไม่เกิน 5% ซึ่งหากน้ำตาลเกิน 10% ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ เนื่องจากในวันที่ 1 ต.ค. 2564 จะครบกำหนดเวลาที่ต้องปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต หรือภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน ตามอัตราขั้นบันได จากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 หากแต่ขณะนี้กรมสรรพสามิตจะมีการทบทวนดูว่าจะชะลอการปรับขึ้นภาษีออกไปหรือไม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 โดยจะต้องมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณารายละเอียด เพื่อดูความเหมาะสมอีกครั้ง

สำหรับการออก พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล พบว่าได้ทำให้คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลง 15.3% และ 14% ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ