ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดตัวเครือข่ายเดินหน้านโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” เฟส 2 ขยายผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม-ลดน้ำตาลในเครื่องดื่มต่อเนื่อง หลังเฟสแรกช่วยคนไทยสั่งหวานน้อยเพิ่มขึ้น 35%


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดงานขับเคลื่อนนโยบายหวานน้อยสั่งได้ เฟส 2 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของประชาชนให้ลดลง ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายหวานน้อยสั่งได้ เฟสแรก มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 จนพบว่าทำให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่ม โดยสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเพิ่มขึ้น 35.5%

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือบูรณาการระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 10 แบรนด์ ได้แก่ คาเฟ่อเมซอน อินทนิล ออลล์คาเฟ่ คัดสรร เบลลินี่ กาแฟมวลชน จังเกิล อราบิเทีย ทรูคอฟฟี่ และดอยช้างคอฟฟี่ รวมทั้งสิ้น 11,471 สาขาทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานในเฟส 2 นี้จะเป็นการต่อยอดและขยายผลสู่ภาคประชาชน ผ่านทางภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ

ในส่วนของเครือข่ายและสมาคมต่างๆ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขณะเดียวกันยังขยายผลสู่ภาคธุรกิจทั้งห้างสรรพสินค้า ได้แก่ บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซ็นทรัลฟู้ดรีเทล จำกัด และศูนย์การค้า ได้แก่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี (Big C supercenter) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด (โลตัส)

นอกจากนี้ยังจับมือกับแฟรนไชส์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท แบล็คแคนยอน ประเทศไทย จำกัด และแฟรนไชส์เครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท ทิพย์ธารี จำกัด (ชาตรามือ) และแฟรนไชส์ต้นตำรับชาพะยอม ซึ่งจะทำให้มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแบบหวานน้อยสั่งได้เพิ่มมากขึ้น อันจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้อีกทางหนึ่ง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายหวานน้อยสั่งได้ มีเป้าหมายภายในปี 2564 ที่จะให้ประชาชนไทยมีพฤติกรรมการสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย อย่างน้อย 50% โดยกรมอนามัย ได้จัดทำโปรแกรมอัจฉริยะ “Food4Health” ที่สามารถบันทึกสูตรเครื่องดื่มลงในระบบ และแปลผลให้ว่าเครื่องดื่มนั้นๆ มีปริมาณน้ำตาลผ่านเกณฑ์เมนูชูสุขภาพหรือไม่

ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำตาลผ่านเกณฑ์ฯ โปรแกรมจะออกใบรับรองเมนูชูสุขภาพออนไลน์ พร้อมทั้งปักหมุดแนะนำเส้นทางร้านหวานน้อยสั่งได้ใน GPS นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำข้อควรระวังในการสั่งเครื่องดื่มรสหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาลชนิดต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้

"โปรแกรมอัจฉริยะนี้จะเป็นการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหาร และโภชนาการให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ให้สามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว