ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรผู้บริโภคเตือนสติ "คณะกรรมการอาหาร-อย." พิจารณาการปลดล็อคกัญชา-กัญชงในอาหารรอบคอบ กำกับดูแลร้านอาหาร-เครื่องดื่ม แจ้งข้อมูลผู้บริโภค-คำเตือน-อายุผู้ซื้อ รัดกุม


น.ส.มลฤดี โพธิ์อิน นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้มีความเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการอาหาร ต้องพิจารณาควบคุมการนำส่วนของพืชกัญชา-กัญชง มาใช้ในอาหารอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน และราก และการใช้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา-กัญชงเป็นอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ มีเพียงข้อมูลการใช้ใบในการประกอบอาหาร หรือใช้ในลักษณะเครื่องเทศเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการควบคุมปริมาณที่ใช้ จนผู้บริโภคที่มีอาการแพ้หรือกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง อาจได้รับสารต่างๆ ในกัญชาในปริมาณที่เป็นอันตรายอย่างไม่รู้ตัว

"สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบ ละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภค ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ ที่คุณแม่ลูกสองซื้อบราวนี่กลับไปทานที่บ้าน แล้วเกิดอาการข้างเคียงตามมา" น.ส.มลฤดี ระบุ

น.ส.มลฤดี กล่าวว่า ในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในอาหาร ฉะนั้นคณะกรรมการอาหาร และ อย.ต้องกำกับดูแลกรณีของร้านอาหารและเครื่องดื่ม ว่าจะมีการให้ข้อมูลผู้บริโภครูปแบบใด มีความชัดเจนเพียงพอให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงหรือไม่ คำเตือนผู้บริโภค การกำหนดอายุผู้บริโภค ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ จะควบคุมอย่างไรและมีบทลงโทษร้านค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม

ด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการอาหารและ อย. ที่กำลังจะพิจารณาเรื่องปลดล็อคกัญชาในอาหารต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงหลักพิจารณาว่า การให้ใช้มีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างไร เพราะการให้ใช้เป็นอาหารคือการส่งสัญญาณสนับสนุนให้เกิดการบริโภค จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันฝ่ายที่เสนอให้ปลดล็อคการใช้โดยไม่ต้องควบคุม จะต้องเสนอหลักฐานในทุกประเด็น โดยเฉพาะความปลอดภัยและแนวทางป้องกันปัญหาที่มีหลักประกันได้ จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความปลอดภัยอย่างแน่นอน อย.ก็จำเป็นต้องใช้หลัก Precautionary Principle คือไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็นและยังมีทางเลือกอื่น