ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยนิยามตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธ รกราก-ความเชื่อผูกติดกับบาปบุญคุณโทษ โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตหลากหลายเรื่องราวจึงกลายเป็นเรื่องของ “บุญเก่า-กรรมเก่า”

แม้ว่าประเทศไทยจะถูกจัดลำดับให้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หากแต่ช่องว่างทางสังคม ณ ปัจจุบันยังถ่างห่าง โครงสร้างทางสังคมทำให้ใครหลายคนรู้สึกหมดหวัง มองไม่เห็นอนาคตที่จะถมความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นให้เต็ม

แน่นอน ความจนไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม และมิติทางสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องบาปบุญ แต่จนแล้วจนรอด เราทุกคน (หมายถึงคนส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณฐานพีระมิด) ก็ยังถูกผลิตซ้ำให้เกิดความเคยชินและจำนนต่อการมีคุณภาพชีวิตแบบของไปที

พูดให้ชัดก็คือ เราต่างถูกออกแบบมาให้ชินชากับ “ความสุขต้นทุนต่ำ” อย่างไร้ทางเลือก

วาทกรรมปลอบปละโลมตัวเองที่พูดกันอย่างติดปากหรือได้ยินอย่างคุ้นหูก็คือ “ได้ก็บุญแล้ว”

ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์จำนวนมากที่ชวนให้หดหู่-สะอิดสะเอียน ผู้เฒ่าผู้แก่ตรากตรำรอเงินเยียวยาโดยไม่สิทธิโอดครวญ ตาสีตาสาถูกลำเลิกบุญคุณจากผู้ปกครอง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจผิดเพี้ยน กลับตาลปัตรผิดที่ผิดทางไปหมด

ว่ากันเฉพาะเรื่องสุขภาพ อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าไม่ใช่เรื่องของบาปบุญหรือเวรกรรม หากแต่เป็นวิทยาศาสตร์ เกี่ยวพันโดยตรงกับนโยบายแห่งรัฐ และสำนึกของทุกผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในระบบนิเวศของระบบสุขภาพ

ย้อนกลับไปก่อนปี 2544-2545 ที่มีการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ ชาวบ้านจำนวนมากต้องขายวัว-ขายควาย หรือถึงขั้นขายที่-ขายทาง เมื่อเจ็บป่วยร้ายแรง มีครัวเรือนจำนวนมากที่ต้องล้มละลายจากค่ารักษา

ในขณะนั้น คนจนถูกตราหน้าเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถที่เอาแต่รอคอยความช่วยเหลือ หนักเข้าก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มก้อนของภาระ สิ้นสูญศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องจำทนดำรงอยู่ในฐานะสิ่งชำรุด

หากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ผู้ป่วยหรือญาติต้องวิงวอนขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช่วยสงเคราะห์ ถ้าผู้อำนวยการยินยอม ย่อมหมายถึงโรงพยาบาลยินดีที่จะแบกรับค่ารักษาในส่วนนี้เอาไว้

ในทางกลับกัน แม้คนจะเข้าถึงการรักษา แต่เมื่อการรักษาตั้งต้นมาจากการอ้อนวอน-ร้องขอความเห็นอกเห็นใจด้วยแล้ว การบริการจึงเป็นไปในลักษณะตามแต่ที่ผู้มีพระคุณเห็นสมควร

“ได้ก็บุญแล้ว”

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หากแต่สถานการณ์ในขณะนี้ก็ยังปรากฏร่องรอยดังกล่าวให้เห็นอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา The Coverage ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เตรียมส่งไม้ต่อให้กับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ว่าที่เลขาธิการ สปสช. คนใหม่

นพ.ศักดิ์ชัย ย้ำว่า “สิทธิ” เป็นหัวใจของระบบบัตรทอง ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษ มีความพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการ “สงเคราะห์” คือการดูแลขั้นต่ำเพื่อให้อยู่ได้ มาเป็น “สิทธิ” ที่จะให้บริการในสิ่งดีที่สุดตามมาตรฐานคุณภาพและต้องมีความเท่าเทียม

แน่นอน ระยะเวลาเกือบ 20 ปี ทำให้แนวคิดดังกล่าวมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าบรรลุผล

แต่จากการขานรับและคำยืนยันจากปากของ “นพ.จเด็จ” ว่าจะต่อยอดความสำเร็จจากเลขาธิการ สปสช. คนก่อนๆ ที่ช่วยกันวางอิฐทีละก้อน ก็ทำให้อุ่นใจได้ถึงทิศทางของ สปสช. ต่อจากนี้

การดูแลจะไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ หรือการ “ให้ก็บุญแล้ว” อย่างแน่นอน

แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ช่วยให้คนเข้าถึงรักษาและยุติปัญหาการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลได้จริง

แต่ถนนที่ทอดตัวยาวออกไปนี้ เส้นทางที่ต้องเดินยังอีกยาวไกล

จนกว่าผู้นำ-ผู้ปกครองจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า นั่นคือ “สิทธิ” ที่ประชาชนพึงได้รับ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมอบให้โดยไม่อาจบ่ายเบี่ยงหรือเลี่ยงบาลี

จนกว่าประชาชนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า นั่นคือสิทธิที่เราทุกคนพึงมี ไม่ใช่บุญคุณของใครหน้าไหน และไม่ใช่เรื่องของการ “ได้ก็บุญแล้ว”

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเข้าใจเรื่องนี้ในเร็ววัน และสนับสนุนให้การรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันหมายถึง 3 กองทุนสุขภาพ ประกอบด้วย สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง มีคุณภาพ-ประสิทธิภาพ และเสมอหน้า

มีการทบทวน จัดลำดับความสำคัญ ทั้งสัดส่วนงบประมาณ–ทิศทางการลงทุนของประเทศกันใหม่

ในเมื่อหมุดหมายของทุกคนคือภาพฝันเดียวกัน เรามั่นใจว่า การเดินไปให้ถึง “รัฐสวัสดิการ” ที่เงินภาษีจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกมิติ สามารถเกิดขึ้นได้จริง

เพราะประเทศไทยมีความพร้อม เหลือเพียงแต่ ผู้นำ-รัฐบาล จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอหรือไม่