ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถึงแม้จะยังมีสาระสำคัญเป็น "สารเสพติด" ที่ "ผิดกฎหมาย" ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 7) แต่การอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการวิจัย ทำให้ประเทศไทยมีระบบ “กัญชาทางการแพทย์” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2562... ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจถัดมา คือเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ซึ่งราชกิจจานุเบกษาได้ ปลดล็อก กัญชา และกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด     ไม่ว่าจะเป็นใบที่ไม่ติด กับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัดเมล็ดกัญชง สารสกัด CBD และในส่วน สาร THC ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดกัญชา

นั่นถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญ ของกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย

แต่ถึงอย่างนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ระบบกัญชาทางการแพทย์ก็ยังคงเป็น "สิ่งใหม่" ของสังคมไทย โดยเฉพาะการใช้กัญชาในระบบการแพทย์ที่สามารถแยกได้ถึง 3 ระบบย่อย ตั้งแต่ กัญชาทางการแพทย์ในระบบ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน

ข้อมูลจาก โครงการวิจัยประเมินผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ระยะที่ 1 โดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล และคณะ ดำเนินการภายใต้การจัดการเครือข่ายนักวิจัยของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยมี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน ชี้ให้เห็นว่า ...

ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขได้น้อย ส่งผลให้มีการใช้กัญชานอกระบบจำนวนมาก

สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือโรงพยาบาลที่ให้บริการกัญชาทางการแพทย์ยังมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยได้รับกัญชาทางการแพทย์ได้ยากจากระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงระบบกัญชาทางการแพทย์ย่อยทั้ง 3 ระบบไม่ เชื่อมโยงส่งต่อกัน ไม่เกื้อหนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีโรงพยาบาลอยู่ทั้งสิ้นเกือบ 1,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ข้อมูลการบริการ กัญชาทางการแพทย์จากกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือน ก.ค. 2563 กลับพบว่ามีสถานพยาบาลรวมเพียง 162 แห่งเท่านั้น ที่ให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ขณะที่ ข้อมูลจากสํานักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเดือน ก.ค.2563 ระบุว่า สถานบริการที่ทําการกระจาย ยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม 16 ตํารับ มีจํานวน 317 แห่ง และสถานบริการที่กระจายยาน้ำมันกัญชา สูตร อ.เดชา ศิริภัทร มีจํานวนเพียง 39 แห่งเท่านั้น

นอกจากโรงพยาบาลที่แพทย์พร้อมจ่ายกัญชาทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยมีจำนวนน้อยแล้ว ผู้ป่วยได้รับกัญชาทางการแพทย์จากระบบการแพทย์แผนปัจจุบันยากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบ แพทย์แผนไทย

ข้อมูลจาก สธ. และรายงานวิจัยโดย “ดร.นพ.บัณฑิต” ยังพบว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ให้บริการกัญชาทางการแพทย์สูตร อ.เดชา ศิริภัทร ที่เปิดให้บริการทุกวัน มีผู้ป่วยมาขอรับกัญชาทางการแพทย์วันละ 500 คน ขณะที่โรงพยาบาลอีกแห่งที่ให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเปิดให้บริการเดือนละ 2 วัน มีผู้ป่วยมาขอรับกัญชาทางการแพทย์วันละ 10 คน

สาเหตุสำคัญที่แพทย์แผนปัจจุบันให้กัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยได้ยาก เป็นเพราะข้อบ่งชี้ของโรคที่จะได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีวิจัยอย่างเป็น วิทยาศาสตร์ยังมีจำนวนน้อยมาก

ปัจจุบันมีเพียง 4 โรค เท่านั้น ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาท เสื่อมแข็ง และ ภาวะปวดประสาท

ความท้าทายจึงอยู่ที่การพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยว่าผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ผลในการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ จะชัดเจนเมื่อไหร่ เพื่อนำไปสู่ระบบการสั่งจ่าย ให้ผู้ป่วยในการแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ระบบทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ได้กลายเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วย ไม่สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้โดยสะดวก ความเห็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติการจ่าย กัญชาทางการแพทย์ของทั้ง 3 ระบบ พบว่าการให้บริการกัญชาทางการแพทย์นั้น มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ในระบบกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์จะใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นหลักสําหรับการรักษาโรค และอาการต่างๆ ก่อน เมื่อไม่ได้ผลแพทย์ที่สนใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแผนปัจจุบัน (สารสกัดกัญชา) และผ่านการ อบรมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สําหรับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ก็จะจ่ายสารสกัดกัญชา ให้ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ซึ่งขณะนี้มีเพียง 4 โรคเท่านั้น ตามข้อแนะนําของกรมการแพทย์ และแพทย์สภา

ส่วนในระบบแพทย์แผนไทย ซึ่งมีบันทึกในตำราแพทย์แผนไทยมากว่า 300 ปี มีการใช้ประโยชน์ โดยอ้างอิงสรรพคุณของกัญชาในฐานะที่เป็นพืชสมุนไพร โดยไม่ได้ใช้งานในลักษณะสกัดสารเดี่ยวๆ แบบการแพทย์ แผนปัจจุบัน ทั้งนี้โดยปกติแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์จะดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีการ ของแพทย์แผนไทยทั่วไปก่อน (ไม่มีส่วนผสมของกัญชา) หากไม่ได้ผลใน 7-15 วัน จึงจะเข้าสู่การใช้ตํารับยา แผนไทยเข้ากัญชา ซึ่งมีอยู่ 16 ตํารับ ด้วยกัน

ขณะที่กัญชาทางการแพทย์ในระบบหมอพื้นบ้านนั้น จะเป็นการให้บริการดูแล ผู้ป่วยด้วยบุคลากร ในชุมชนที่ถูกยกย่องให้เป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วยด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานาน อย่างการจ่ายนํ้ามันกัญชาสูตร อ.เดชา ศิริภัทร เมื่อผู้ป่วยไปพบ หมอพื้นบ้านเพื่อขอรับการรักษาด้วยนํ้ามันกัญชาสูตร อ.เดชา ศิริภัทร หลังสอบถามประวัติอาการต่างๆ แล้ว จะจ่ายนํ้ามันกัญชาให้กลับมารับประทานก่อนนอน โดยมีหลักว่าจะต้องไม่มียาชนิดอื่นใดมาทานร่วมด้วยใน เวลาก่อนนอน เพราะจะมีปัญหากับนํ้ามันกัญชา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าแนวปฏิบัติของกัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันมีปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ

1. ผู้ป่วยเป็นฝ่ายเริ่มต้นเข้าพบแพทย์แต่ละระบบและแจ้งความประสงค์ที่ต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยตนเอง ไม่ใช่แพทย์เป็นผู้แสดงเจตจำนงต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์เอง
2. แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยจะจ่ายกัญชาทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยก็ต่อเมื่อชัดเจนว่าวิธีการรักษาปกติจะไม่ได้ผล ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กัญชาทางการแพทย์แม้จะแสดงความประสงค์ก็ตาม
3. ยังขาดการแนะนำส่งต่อระหว่างระบบ ทำให้ผู้ป่วยต้องปิดบังกรณีไปใช้กัญชาทางการแพทย์ จากอีกระบบหนึ่ง

ภายใต้ระบบที่ซับซ้อนแต่ไม่เชื่อมโยงส่งต่อกัน มีส่วนทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ประสงค์จะใช้กัญชาทางการแพทย์แต่ไม่ได้รับจากแพทย์แผนปัจจุบัน หันไปใช้นํ้ามันกัญชา นอกระบบจำนวนมาก

จากการศึกษาของ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ ในปี 2563 พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันได้รับยามาจากกัญชานอกระบบ ไม่ว่าจะซื้อจากผู้จำหน่ายนอกระบบ หรือได้รับจากญาติ หรือเพื่อน

มีเพียง ร้อยละ 20 ที่ได้รับกัญชาในระบบมาใช้ โดยร้อยละ 0.4 รับจากคลินิกแพทย์ แผนปัจจุบัน ร้อยละ 7 รับจากคลินิกแพทย์แผนไทย และ ร้อยละ 13 รับจากคลินิกส่วนตัวของแพทย์แผนปัจจุบัน

ความเชื่อมโยงส่งต่อกันของทั้ง 3 ระบบย่อย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับ การเพิ่มจำนวนสถานบริการที่พร้อมจ่ายกัญชาทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การพิสูจน์” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยในระบบย่อยต่างๆ นั้นสามารถรักษาผู้ป่วยได้ผลจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ข้อมูลการพิสูจน์จะเป็นตัวปลดล็อกยากัญชาทางการแพทย์ในแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการสั่งจ่ายยาเอง หรือแนะนำผู้ป่วยให้ไปรับยากัญชาทางการแพทย์จากสถานบริการที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง

ทั้งหมดก็เพื่อทำให้การให้บริการกัญชาทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมในการใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยที่สุดนั่นเอง