ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2563) เอ็ดการ์ โพโซ รมว.สาธารณสุขโบลิเวีย ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนได้ให้คำมั่นกับประชาชนไว้ว่า สิ่งที่จะเร่งทำคือสร้าง “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อให้ประชาชนทุกคนทั่วประเทศเข้าถึง “ประกันสุขภาพ” และเข้าสู่ระบบการ “รักษาฟรี” ให้ได้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็น “คำสัญญา” ที่ไม่ง่ายนัก เพราะโบลิเวียกำลังเจอวิกฤตจากโควิด-19 ที่หนักเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคละตินอเมริกา ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 1.6 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 9,000 คน

ซ้ำเรื่องเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดว่าหากโบลิเวียมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจริง รัฐบาลจะหาเงินทุนมาจากไหน

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลชุดก่อนหน้าของประธานาธิบดี อีโว โมลาเรส ได้ประกาศผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนกว่า 5.8 ล้านคน จากประชากรทั่วประเทศ 11 ล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพใดๆ ภายใต้โครงการ Sistema Único de Salud (SUS)

เขาหวังว่าประชาชนจะเข้าถึงการรักษา ตั้งแต่โรคภัยไข้เจ็บพื้นฐานไปจนถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคมะเร็งในเด็ก หรือโรคพาร์กินสัน

ทว่ารัฐบาลโบลิเวียก็เดินหน้าเรื่องนี้ได้ไม่ง่ายนัก เพราะสุดท้ายมีหมอจากโรงพยาบาลรัฐจำนวนมากได้ออกมาประท้วง ด้วยเห็นว่าจะสร้างภาระให้กับพวกเขามากขึ้น และถึงอย่างไรงบประมาณก็ไม่พอ

แต่จนแล้วจนรอด นโยบายดังกล่าวก็ผ่านเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2562

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วโบลิเวียก็เกิดอุบัติเหตุ รัฐบาลซึ่งแนวคิดเอียงไปทาง “ซ้าย” ถูกกลุ่มผู้ประท้วงขับไล่ และถูก “ชนชั้นนำ” บีบให้ออก รัฐบาลขวาจัดเข้ามาแทนที่ชั่วคราวระยะหนึ่ง

ถัดจากนั้นการเมืองโบลิเวียก็กลับตาลปัตรอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 พรรคของโมลาเรสได้รับโหวตกลับเข้ามา โดยมีประธานาธิบดี หลุยส์ อาเก รับตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นไปในทาง “ซ้าย” จึงได้รับฉันทามติให้เดินหน้าต่อ

แน่นอนอุปสรรคเดิมทั้งหมดยังคงอยู่ เริ่มจากจำนวนประชากรที่อยู่ในภาคอิสระ เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ข้อมูลจาก “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) พบว่าแรงงานนอกระบบในโบลิเวียมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือคิดเป็นกว่า 62.3% ของจีดีพี

หากทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่การรักษาพยาบาลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ก็แปลว่าจะเป็นนโยบายครั้งประวัติศาสตร์ เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ถูกละเลย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาใดๆ และการรักษาพยาบาลสำหรับคนกลุ่มนี้ มักจะขึ้นอยู่กับว่ามีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ เพียงแค่นั้น

อย่างไรก็ตาม การกลับมาอีกรอบของนโยบายนี้ก็เรียก “ก้อนอิฐ” จากฟากของวิชาชีพแพทย์เหมือนเดิม “หลุยส์ ลาเลีย การ์เซีย” ประธานสมาคมวิชาชีพวิทยาลัยการแพทย์ลาปาซ ยืนยันว่า ด้วยงบประมาณเพียงแค่นี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะเดินหน้าไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ...

... การเปิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาใหม่ในเวลานี้ จึงเป็นเพียงแค่การ “หลอกลวง” ซ้ำอีกรอบเท่านั้น และเสนอแนะว่า หากอยากให้ประสบความสำเร็จจริงรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 10% ของจีดีพี ลงไปที่ด้านสาธารณสุข

ปัจจุบันโบลิเวียใช้งบประมาณ 6.4% ของจีดีพีลงไปที่ด้านสาธารณสุข ซึ่งแม้จะมากกว่าเปรูที่อยู่ที่ 5% แต่ก็น้อยกว่าปารากวัย ซึ่งอยู่ที่ 6.7% และน้อยกว่าอาเจนตินา ซึ่งอยู่ที่ 9.1%

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร ในนครลาปาซ ประกาศจะหยุดให้การรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากรัฐบาลขวาจัดชุดที่แล้ว ติดหนี้ 60 ล้านโบลิเวียดอลลาร์ (ประมาณ 261 ล้านบาท)

ในเดือนเดียวกัน แพทย์หลายคนต่างก็นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาล เนื่องจากไม่ได้รับค่าตอบแทน ซ้ำยังต้องอยู่ภายใต้สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ นอกจากนี้หลายคนยังถูกรัฐบาลติดเงินไว้หลายเดือน พร้อมๆ กับที่เวลาเดียวกัน รัฐบาลชุดดังกล่าวมีเรื่อง “อื้อฉาว” จากการโกงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ

เคท เซนเทลลาส์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิสซิสสิปปี ,อ็อกซ์ฟอร์ด รัฐมิสซิสสิปปี ซึ่งศึกษาโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในโบลิเวีย ระบุว่า ไม่ว่าจะประธานาธิบดีฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้ายที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็จะเจอการประท้วงจากแพทย์ต่อไปเรื่อยๆ ...

... แม้แพทย์จำนวนมากในโบลิเวีย จะสนับสนุน “หลักการ” ให้มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในเวลาเดียวกัน เงินที่ลงไปกับโครงการนี้ควรจะเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จำกัดจำเขี่ยแบบนี้ และในเวลาเดียวกันก็ควรดูแลทั้งค่าตอบแทน ทั้งภาระงานของแพทย์ ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ภายใต้นโยบายนี้โดยตรงให้สมน้ำสมเนื้อ พอที่จะหล่อเลี้ยงนโยบายนี้ให้รอดด้วย

ปัจจุบัน โบลิเวียมีแพทย์เพียง 1.6 คน ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าท่ามกลางจำนวนแพทย์ที่น้อยและไม่ได้สัดส่วนกับประชากรเช่นนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ซึ่งทำให้ระบบการรักษาฟรีอาจไม่สามารถเดินหน้าได้ราบรื่นนัก

อย่างไรก็ตาม มาเรีย โบลิเวีย โรเต้ แพทย์นักระบาดวิทยา และหนึ่งในผู้บริหารของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยืนยันว่าการเพิ่มจำนวนแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จะเป็น “ศูนย์กลาง” ของนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะเดินหน้าแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยรัฐบาล จะเร่งหาเงินมาเพิ่มอย่างเร่งด่วน รวมถึงจะไม่ทิ้งการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโควิด – 9

“เชื่อว่านโยบายนี้ จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง และเห็นผลอย่างจริงจัง” โรเต้ ระบุ