ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปอร์ตไลท์ส่องลงไปที่ “ปากีสถาน” เมื่อรัฐบาลปากีสถานพิสูจน์ให้แวดวงสุขภาพโลกเห็นถึงความตั้งใจในการวางแผนและริเริ่มปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชากร 220 ล้านคนในอนาคตข้างหน้า

งานนี้มีหัวหอกอย่างนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน (Imran Khan) ซึ่งถือเป็นผู้นำประเทศคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองปากีสถาน ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาพ

ทั้งยังตั้งเป้าหมายแก้ปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาตกทอดจากสงครามภายในและปัญหาความยากจนเรื้อรังของปากีสถาน

ถึงขนาดที่องค์กรยูนิเซฟ (Unicef) เคยจัดอันดับปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงที่สุดสำหรับทารกและเด็ก เพราะอัตราการตายในเด็กอายุต่ำว่า 5 ปี สูงถึง 42 คนต่อ 1,000 คน ในปี 2561

ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีข่านเปิดตัวนำร่องโครงการประกันสุขภาพ หรือที่เรียกว่า Sehat Sahulat ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งในแคว้นปัญจาบ และเขตปกครองตนเองอาซาดจัมมูและแคชเมียร์

ภายใต้โครงการนี้ ประชากรในกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยจะได้รับบัตรสวัสดิการที่เรียกว่า “Sehat Card” สำหรับแสดงที่หน่วยบริการด้านสุขภาพ เพื่อขอรับบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และขอพิจารณารับการรักษาในโรคที่มีค่ารักษาแพง เช่น ผ่าตัดหัวใจ มะเร็ง ล้างไต และผ่าคลอด

รัฐบาลปากีสถานได้ทยอยแจก Sehat Card นำร่องใน 90 อำเภอทั่วประเทศ มีครอบครัวที่ได้รับสิทธิรวม 9 ล้านครอบครัว โดยจะขยายความครอบคลุมให้ครบทุกแคว้นในปีหน้า

ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 73 ปีของประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศปากีสถาน ที่ประชาชนได้รับการประกันสุขภาพโดยรัฐบาล

แม้ว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมประชากรทุกคน และมีสิทธิประโยชน์จำกัด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งประเทศในอนาคตข้างหน้า

และยังพิสูจน์ว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องรอให้ประเทศรวย ขอให้รัฐบาลและผู้นำประเทศมีความตั้งมั่นก่อน

การปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนด้านสุขภาพประจำปี 2559-2568 โดยรัฐบาลปากีสถานทำงานร่วมกับ UHC Partnership ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขนานาประเทศ ที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดหลักประกันสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและอังกฤษ

ก่อนหน้านี้ การพัฒนาระบบสุขภาพในปากีสถานแทบไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศ โดยรัฐบาลใช้จ่ายกับระบบสาธารณสุขน้อยกว่า 1% ของจีดีพี ขณะที่นักวิชาการเสนอให้เพิ่มอัตราส่วนเป็นอย่างน้อย 3% จึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ในระบบสาธารณสุข

งบประมาณของรัฐบาลส่วนมากถูกนำไปใช้ในงานด้านทหาร เพื่อจัดการกับสงครามและกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทั้งรัฐบาลยังมีภาระหนี้สินจากการกู้เงินผ่านสถาบันการเงินต่างประเทศ และมีปัญหาคอรัปชั่นภายในรุนแรง

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การเมืองของปากีสถานมีเสถียรภาพมากกว่าแต่ก่อน จนสามารถนำร่องโครงการประกันสุขภาพได้สำเร็จ แต่นักวิชาการก็เสนอว่ายังมีข้อจำกัดในหลายมิติที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้ความฝันที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคนเป็นจริง

ระบบการแพทย์ในปากีสถานยังขาดการทำงานแบบเครือข่าย รัฐบาลจึงต้องเชื่อมต่อระบบการแพทย์ปฐมภูมิในระดับท้องถิ่น สู่ระดับแคว้นและประเทศ

รวมทั้งดึงภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วม เพราะ 70% ของประชากรยังใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด บริการจึงยังไม่มีคุณภาพ และมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพระหว่างโรงพยาบาลในเขตเมืองและชนบท

นอกจากนี้ ต้องมีการปฏิรูปการเมืองในเชิงโครงสร้าง ควบคู่กับการปฏิรูประบบสุขภาพ เพราะการบริหารงานของรัฐยังมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล

ระบบอุปถัมภ์ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลปากีสถาน เกิดการแย่งยื้องบประมาณสาธารณะ เพื่อใช้ในโครงการที่เพิ่มความมั่นคั่งให้นักการเมืองและนายทุน จนเคยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชนบทไม่ได้รับเงินเดือน

อีกข้อเสนอที่สำคัญ คือ ว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนนิยาม “ความมั่นคงชาติ”

ที่ผ่านมารัฐบาลปากีสถานมีมุมมองด้านความมั่นคงของชาติ ยึดโยงกับงานการทหารและการสงคราม เพราะประเทศมีประวัติศาสตร์ผ่านการทำสงครามและการรุกรานจากภายนอก จึงละเลยความมั่นคงของชาติในมุมมองด้านความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีความมั่นคงด้านสุขภาพอยู่ในนั้น

เชื่อว่าหากเปลี่ยนมุมมองแล้ว จะทำให้รัฐบาลยอมลดงบประมาณการทหาร และผันงบประมาณมาลงทุนกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน