ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ณ วันนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน (National Health Insurance หรือ NIH) ได้รับการยกย่องว่าเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีคุณภาพมากแห่งหนึ่งของโลก

การจัดอันดับของสำนักข่าวบลูมเบิร์กไม่กี่ปีก่อน ยกให้ระบบสุขภาพของไต้หวันอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก และจากการจัดอันดับทุกครั้ง ไต้หวัน มักจะอยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ

NHI คือระบบสุขภาพระบบเดียว ครอบคลุมประชากร 24 ล้านคนทั้งเกาะไต้หวัน โดยเป็นหน่วยงานที่ “รัฐ” เป็นผู้ดูแล ครอบคลุมการรักษาตั้งแต่โรคภัยไข้เจ็บเบื้องต้น โรคเรื้อรัง ไปจนถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะโรคเอดส์ โรคไตวาย โรคมะเร็ง หรือการส่งเสริมสุขภาพ – ป้องกันโรค

ประจักษ์พยานหนึ่งของความสำเร็จในระบบสุขภาพไต้หวันก็คือ การจัดการกับโรคโควิด-19 อย่างอยู่หมัด

เพราะเมื่อมีระบบสุขภาพระบบเดียว รัฐบาลจึง “รวมศูนย์” ฐานข้อมูลคนไข้ ฐานข้อมูลด้านสุขภาพประชากร อยู่ภายใต้ระบบ Big Data ระบบเดียว ขณะที่โรงพยาบาลรัฐบาลทุกโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ก็อยู่ภายใต้ระบบ NHI

นั่นทำให้รัฐบาลสามารถใช้ Single Command เดิมอย่างเป็นประโยชน์ ผ่านระบบที่มีรากฐานแน่นหนาอยู่แล้ว

แล้วประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไต้หวัน ที่เข้มแข็งขนาดนี้เริ่มต้นจากไหน !!?

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1986 ในเวลานั้น 41% ของประชากรเกาะไต้หวัน หรือราว 8.6 ล้านคน ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพใดๆ และจำต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล นั่นทำให้รัฐบาลไต้หวัน เริ่มร่างแผน “ยกเครื่อง” ระบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่

เป้าหมายขณะนั้นคือ ทำให้ประชากรทุกคนบนเกาะเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เพราะรัฐบาลเชื่อว่า ยิ่งประชาชนสามารถประหยัดค่ารักษาได้มากเท่าไหร่ ก็จะ “เหลือเงิน” และเอาเวลาไปทำอย่างอื่นเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกาะเล็กๆ แห่งนี้มากขึ้น

8 ปีหลังจากนั้น แผนปฏิรูประบบสุขภาพเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ไต้หวันส่งนักเศรษฐศาสตร์และแพทย์จำนวนมากไปศึกษาจุดแข็ง และจุดอ่อนของระบบสุขภาพทั่วโลกจนตกผลึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก “รวม” ระบบประกันสุขภาพที่มีกว่า 10 ระบบ ในไต้หวันเข้าเป็นระบบเดียว

ไต้หวันยึดเอาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ “แคนาดา” เป็นต้นแบบ ผสมผสานกับระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของ “เยอรมัน”

กฎหมายปฏิรูประบบสุขภาพผ่านสภานิติบัญญัติไต้หวันในเดือนกรกฎาคม 1994 และเริ่มต้นบังคับใช้เป็นนโยบายในเดือนมีนาคมปีถัดไป และเมื่อถึงปลายปี 1995 ประชากร 92% ของเกาะไต้หวัน ก็อยู่ภายใต้ระบบ NHI เป็นที่เรียบร้อย

จะสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ตาม แต่ 2 ทศวรรษเศษ หลังจากไต้หวันปฏิรูประบบสุขภาพได้เรียบร้อย เกาะแห่งนี้ก็เจริญงอกเงยในทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเป็นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ แทนที่จะเป็นแหล่ง “รับจ้าง” ผลิตอย่างเดียว

แล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพไต้หวันคืออะไร !!?

คำตอบที่เห็นได้ชัดในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ก็คือคนไข้ไต้หวัน สามารถ “เข้าถึงหน่วยบริการ” ตั้งแต่ระดับคลินิกทำฟัน สถานีอนามัย เนิร์สซิงโฮม ไปจนถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมแล้วกว่า 1.9 หมื่นหน่วยบริการ หรือประมาณ 92.6% ของหน่วยบริการทั่วประเทศ และสามารถ “เข้าถึงยา” กว่า 1.67 หมื่นตัว

นอกจากนี้ งานวิจัยหลายปีก่อนยังพบว่า “คิว” การรักษาในไต้หวันนั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าต้นกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ไต้หวันไปเลียนแบบมาอย่างแคนาดาด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการผ่าตัดหัวเข่าในแคนาดา อาจต้องรอนานหลายเดือน หรืออาจรอเป็นปี แต่ในไต้หวัน การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก หรือหัวเข่า จะใช้เวลาเพียง 12-18 วันเท่านั้น

แต่แน่นอน ระบบหลักประกันสุขภาพของไต้หวัน ไม่ใช่ของฟรี พลเมืองไต้หวัน 24 ล้านคน ต้องจ่ายสมทบเข้าสู่กองทุนสุขภาพทุกเดือน โดยประชาชน นายจ้าง และรัฐบาลร่วมกันสมทบ

หากเป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือพนักงานของรัฐ นายจ้างจะช่วยจ่ายราว 60% ตัวเองจ่ายสมทบ 30% และอีก 10% รัฐบาลเป็นผู้จ่าย ซึ่งโดยรวมแล้วจะอยู่ที่ราว 4.9% ของเงินเดือนและรายได้อื่น ส่วนเจ้าของกิจการนั้น จะจ่ายในอัตรา 5% ของรายได้ต่อปี

อย่างไรก็ตาม การร่วมจ่ายก็มีข้อสงวนไว้ให้สำหรับทหารเกณฑ์ ทหารผ่านศึก และผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งน่าสนใจก็ตรงที่ไต้หวัน มีจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่น ไม่มากนัก ต่างจากประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนใกล้เคียงกันอย่างไทย โดยอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของเด็กจบใหม่นระดับปริญญาตรี สูงถึง 3.1 หมื่นเหรียญไต้หวัน (หรือ 3.1 หมื่นบาทไทย)

ถามว่ายังมี “ช่องโหว่” สำหรับระบบนี้หรือไม่ ... ก็ต้องตอบว่ามี

เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพเข้าถึงได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ฝั่งของผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ต่างก็รู้สึกตรงกันว่าคนไต้หวัน ใช้บริการสุขภาพอย่าง “สิ้นเปลือง” เกินไป โดยเฉลี่ยแล้วคนไต้หวันพบแพทย์มากกว่า 15 ครั้งต่อปี ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ พบแพทย์เพียง 5 ครั้งต่อปี

นั่นทำให้ระบบต้องรับภาระมากเกินความจำเป็น ขณะเดียวกัน มากกว่า 20% ของผู้ป่วย ที่เข้ารับการตรวจด้วยเครื่องมือราคาแพง ไม่ว่าจะเป็น MRI หรือ CT Scan ยังไม่ยอมกลับมาฟังผล กลับตรวจทิ้งขว้างไว้เสียอย่างนั้น