ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม. เผย จากปี 58 – 65 การรักษาผู้ป่วยเอชไอวีครอบคลุมเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ลุยใช้ ‘คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม.’ (BKK Pride Clinic) 31 แห่งทั่วกรุง เสริมการเข้าถึง ตั้งเป้ายุติเอดส์ให้ทันปี 73


เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก Valentine 2024: Ready 4 Love ว่า กทม. ได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Tack Cities ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 ในปี 2565 ณ เมืองเซบียา ประเทศสเปน และครั้งที่ 3 ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมาย 95-95-95 ภายในปี 2573

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินงานด้านเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่องและพบว่าสัดส่วนของผู้ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 74% ใน ปี 2558 เป็นมากกว่า 96% ในปี 2565 ความครอบคลุมของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 52% เป็น 91% และผู้ติดเชื้อเอชไอวีใน กทม. เกือบทุกคนสามารถยับยั้งปริมาณไวรัสเอชไอวีได้ร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อฯ ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 7 วันหลังทราบสถานะการติดเชื้อในสถานพยาบาลของ กทม.

นอกจากนี้ ยังมีผู้รับบริการยา PEP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายใน 4 ปี ระหว่างปี 2562 – 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน การสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือที่เข้มแข็งของภาคีเครือข่าย จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2566 มีจำนวน 90,416 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,123 คน และเสียชีวิตภายในปี 2566 จำนวน 1,831 คน ข้อมูลในระบบ NAP พบว่ามีผู้ที่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ จำนวน 86,133 คนได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ จำนวน 66,240 คน

รศ.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า จากผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BBS) ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พบว่า กลุ่มสาวประเภทสอง (TGW) ร้อยละ 4 และกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 1.68 ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน กทม. จำนวน 8,000 คน โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 2,745 คน รองลงมาคือ หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่และเริม ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ

รศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดนโยบาย “นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย” เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐ ที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์ สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก BKK Pride Valentine Day 2024: Ready 4 You

เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้องเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ประชาสัมพันธ์การใช้ถุงยางอนามัยและยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP /PEP) รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม. (BKK Pride Clinic) เพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในปี 2567 นี้ กทม. มีคลินิกดังกล่าว จำนวน 31 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงดนตรี จาก PARK MALODY (วาสนาผู้ใดหนอ) และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การแสดงบนเวทีโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ การเสวนาหัวข้อ Ready 4 You มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสินสมุทร เขียวขาว (ผู้แทนศิลปิน) ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนเยาวชน LGBTQI+ นพ.สธน ชมพูพันธุ์ (BKK Pride Clinic ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี) พญ.วิภาพร นาฏาลี ทรงทวีสิน จาก Buddy CU Clinic โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกิจกรมในบูธนิทรรศการ ตอบคำถามชิงของรางวัลมากมายภายในงาน