ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รองผู้ว่าฯ ทวิดา’ เผย กทม. จัด ‘มอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน’ เพิ่มประสิทธิภาพบริการฉุกเฉิน กทม. ถึงจุดเกิดเหตใน 5 นาที สถิติปลายปี 66 ช่วยผู้ป่วยได้กว่า 150 คนต่อเดือน


เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการบรรยายในหัวข้อ Strategic Planning and Management for EMS ในการอบรมหลักสูตร EMS Leadership and Management Training ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ สพฉ. ร่วมกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ Japan International Cooperation Agency (JICA) ในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรม Emergency Medical Service (EMS) Leadership and Management Training Course ให้กับแพทย์จากกลุ่มประเทศ CLMV ระหว่างวันที่ 5-23 ก.พ. 2567 โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จำนวน 15 คน และมีผู้สังเกตการณ์คนไทย จำนวน 2 คน
 
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ กทม. และบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ กทม. ทั้ง 50 เขต เป็นงานที่มีความท้าทายในการปฎิบัติงานในการให้บริการประชาชน อาทิ สังคมผู้สูงวัย การเติบโตของเมือง ความซับซ้อนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย กทม. มีโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งหมด 12 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 3,300 เตียง และนอกจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในสังกัดแล้ว กทม. ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสถานพยาบาลและโรงพยาบาลนอกสังกัดด้วย เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด 

1
 
สำหรับการดูแลด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. นั้น ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ (Bangkok Emergency Medical Center: ERAWAN) ได้แบ่งพื้นที่ดูแลและให้บริการเป็น 11 โซน โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลนอกสังกัด กลุ่มอาสาสมัคร มีแม่ข่ายรับผิดชอบแต่ละโซน ได้แก่ 1. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลกลาง 3. โรงพยาบาลตากสิน 4. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 5. โรงพยาบาลเลิดสิน 6. โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี 7. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 8. โรงพยาบาลราชวิถี 9. โรงพยาบาลตำรวจ 10. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และ 11. โรงพยาบาลสิรินธร 
 
สำหรับการให้บริการรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยกรณีเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เอราวัณ ได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและหน่วยงานร่วมดูแลพื้นที่ 15 หน่วย ประกอบด้วย 1. ดอนเมือง 2. ตลิ่งชัน 3. ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (รามอินทรา) 4. สำนักงานเขตลาดพร้าว 5. สำนักงานเขตบางนา 6. สำนักงานเขตวังทองหลาง 7. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) และ8. คลองสามวา 

9. บางขุนเทียน 10. วัดวิมุตยาราม 11. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน 12. สำนักงานเขตสะพานสูง 13. ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน 14. ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ และ 15. สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน (Motor lance) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้พิการ ได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที จากข้อมูลตั้งแต่ ต.ค. – ธ.ค. 2566 มีผู้ป่วยที่ได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยรถ Motor lance ประมาณ 120-150 รายต่อเดือน 

2