ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จี้รัฐจัดระบบไรเดอร์ นักวิชาการ เผย ไรเดอร์ “ตาย-เจ็บ” สูงขึ้นจนน่าตกใจ ทั้งต้องเสี่ยงอันตรายบนถนนวันละกว่า 10 ชั่วโมง อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก ขอของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลดูแลแรงงานกลุ่มนี้ เฉพาะใน กทม. มีร่วม 8 หมื่นราย


ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการศึกษา “งานสวัสดิการไรเดอร์” เปิดเผยว่า ไรเดอร์ถือเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง มีการศึกษาสถิติอุบัติเหตุระหว่างการทำงานของกลุ่มนี้  พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสูงขึ้นจนน่าตกใจ สร้างผลกระทบกับทั้งตัวไรเดอร์ คนในครอบครัว และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ 

หัวหน้าโครงการศึกษา “งานสวัสดิการไรเดอร์” กล่าวอีกว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวไรเดอร์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากระบบการทำงานแพลตฟอร์ม ที่เจ้าของแอปพลิเคชันอ้างว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการเทคโนโลยี ที่ไรเดอร์ดาวน์โหลดมาใช้เอง และยอมรับเงื่อนไขการให้บริการเอง โดยเรียกไรเดอร์ว่าเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ส่วนผู้ให้บริการแอปฯ ไม่ใช่นายจ้าง เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดใดๆ ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบตัวเอง และกำหนดการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น สามารถปรับลดค่ารอบได้ 

นอกจากนี้ ยังมีระบบระบบวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้ หรือที่ไรเดอร์เรียกว่าอัลกอริทึ่มให้ลูกค้าประเมินความพึงพอใจ หากไรเดอร์ขยัน ระบบจะประประเมินและจ่ายงานให้มากขึ้น ใครไม่ขยันระบบก็ไม่จ่ายงานให้ ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ไรเดอร์ทำงานหนักขึ้น ค่ารอบลดลง ทำให้ต้องวิ่งงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นส่งผลให้ต้องอยู่บนถนนวันละกว่า 10 ชั่วโมง 

ดังนั้นพอรีบก็ขับรถเกิดอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไรเดอร์ต้องรับผิดชอบเอง ขณะที่เจ้าของแอปฯ กลับไม่ได้จ่ายอะไรเลย เอาแต่ผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ให้บริการแอปฯ ก็ถือเป็นนายจ้าง แต่เอาเทคโนโลยีมาซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมด เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ผิดที่ผิดทาง โดยต้องยอมรับว่านี่คือการจ้างงานรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการ

ด้าน พญ.ชไมพันธ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวเสริมว่า ในฐานะองค์กรและนักวิชาการที่ทำงานด้านอุบัติเหตุและการบาดเจ็บโดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ อยากขอของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลในการร่วมรณรงค์ ผลักดัน และ ออกมาตราการในการลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ให้ได้จากที่ไทยครองแชมป์ตายสูงสุดในโลกมา 38 ปีแล้ว ในปีใหม่นี้ 

นอกจากนี้ สถานการณ์ที่น่าห่วงขณะนี้ คือ ตัวเลขการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ของกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่าง ไรเดอร์ และ รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีมากกว่า 8 หมื่นคน โดยมีรถจักรยานยนต์กระจายอยู่ทั่ว กทม. มากกว่า 5,500 จุด

“ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าในปี 2565 มีกลุ่มไรเดอร์ เกิดอุบัติเหตุ 81 ครั้ง เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บอีก 36 ราย ขณะที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างแม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะบางครั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นไรเดอร์ด้วย และ ไรเดอร์ก็เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร คนกลุ่มนี้ เปรียบเสมือนคนชายขอบของเมืองที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือดูแลอย่างดีพอ” พญ.ชไมพันธ์ ระบุ

 พญ.ชไมพันธ์ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของกลุ่มไรเดอร์และรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีหลายสาเหตุ ทั้ง การขาดทักษะการขับขี่ โดยเฉพาะทักษะคาดการณ์ความเสี่ยง ทั้งๆ ที่ ต้องทำงานแข่งกับเวลาขับเร็ว ย้อนศร ขับบนทางเท้า ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ทำงานแข่งกับความเร็วและเวลา เส้นทางที่ไม่คุ้นชิน และ ถนนที่ไม่เอื้อต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์