ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักอนามัย กทม. เตรียมตั้ง ‘ทีมพิทักษ์จิตเวช’ ร่วมค้นหา - ส่งต่อ – ติดตามดูแล ‘ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด’ คาดเริ่มเดินหน้าได้ ก.พ. 67


เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 เพื่อหารือแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ กทม. ซึ่งในที่ประชุมมีการรายงานถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ กทม. และแนวทางการดำเนิการในด้านต่าง ๆ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 ในพื้นที่ กทม. มีการจับกุมคดียาเสพติดคดีร้ายแรง 3,254 คดี โดยพื้นที่ที่มีการจับกุมเรียงตามลำดับสูงสุด 1-3 ดังนี้ 1. เขตลาดกระบัง 159 คดี 2. เขตคลองเตย 142 คดี และ 3. เขตบางกะปิ 141 คดี

1

นอกจากนี้ สำนักอนามัย กทม. ยังได้รายงานถึงแนวทางการจัดตั้งทีมพิทักษ์จิตเวชโดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.ข.) โดยมีโครงสร้างทีมพิทักษ์จิตเวช ประกอบด้วย 1. บุคลากรจากสำนักงานเขต 2. บุคลากรจากศูนย์บริการสาธารณสุข 3. บุคลากรจากสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ 4. อาสาสมัครสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานยาเสพติด/จิตเวช 5. ชมรมรักษ์ใจ (ถ้ามี) 6. กรรมการชุมชน (ถ้ามี) 

รวมถึงทีมพิทักษ์จิตเวชมีบทบาทหน้าที่ คือ 1. การค้นหาและส่งต่อข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดและผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา 2. เข้าร่วมการซ้อมแผนเผชิญเหตุ 3. การติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาและสารเสพติดในชุมชน 4. รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดทั้งหมด 5. รายงานการกินยาจิตเวชทุกวัน ผ่าน Line OA ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมและตั้งเป้าหรือคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายใน ก.พ. 2567

1

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า นอกจากเรื่องยาเสพติดที่ กทม. และภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาแล้ว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ ยังมีความห่วงใยในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่เชิงเป็นยาเสพติด แต่ก็มีสิ่งที่จะต้องดำเนินการ อีกทั้งยังมีเรื่องของกัญชาที่มีร้านจำหน่ายเปิดเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน และบางร้านอยู่ใกล้สถานศึกษา โดยผู้ว่าฯ ได้เน้นย้ำ และอาจต้องมีการจัดทำข้อบัญญัติของ กทม. เองหรือไม่ 

เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัยให้เยาวชนก่อน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องหารือกันอีกครั้งในหลักคิดโดยใช้ความละมุนละม่อม รวมถึงเรื่องการเพิ่มพื้นที่ฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดด้วย แม้ว่ากทม. จะมีบ้านพิชิตใจแต่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด สามารถหาพื้นที่เพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่ง กทม. อยากร่วมมือหน่วยงานภายนอก และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เยอะขึ้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีความร่วมมือกับ พม. หลายด้าน เช่น เรื่องคนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคม และเรื่องยาเสพติด

4

รศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้พูดแค่ว่างานนี้เป็นของใคร คนรับผิดชอบเป็นใคร อาจรู้ว่าผู้ดูแลเป็นใคร แต่ในการทำงานต้องมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการดำเนินการ ซึ่งในการดูแลผู้ติดยาเสพติดนอกจากเรื่องของการบำบัดแล้ว อยากให้มีการพูดถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การสร้างอาชีพให้ เพื่อให้มีรายได้ดูแลตัวเองสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ รวมถึงการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน