ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยา “เบดาคิวไลน์” เป็นยาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้รักษา ‘วัณโรคเชื้อดื้อยาหลายขนาน’ และยังเป็นยาที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น สามารถลดระยะเวลาการรักษาลงจาก 1 ปีเหลือเพียง 6 เดือน

ยาดังกล่าว ถูกคิดค้นขึ้นโดย ‘บริษัทยาข้ามชาติ’ แห่งหนึ่ง

บริษัทยาข้ามชาติ ได้ยื่นขอจด ‘สิทธิบัตร’ ยาชนิดนี้ในประเทศไทย โดยฉบับแรกได้รับสิทธิบัตรไปแล้ว และกำลังจะหมดอายุสิทธิบัตรลงในเดือนกรกฎาคม 2566

ซึ่งแน่นอน บริษัทยาข้ามชาติมีการขอยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไปอีก 4 ฉบับ

ทำความเข้าใจโดยง่าย การขอจด ‘สิทธิบัตร’ ก็คือขอให้มีความคุ้มครอง ไม่ให้ประเทศนั้นๆ ผลิตยา หรือนำเข้ายานี้จากแหล่งอื่นๆ ได้ หากต้องการใช้ยา ต้องซื้อยาจากเจ้าของสิทธิบัตรเท่านั้น

แต่โดยปกติแล้วสิทธิบัตรจะมีอายุ ซึ่งหากฉบับแรกหมดอายุไปแล้ว ก็เท่ากับยานั้นๆ เป็นองค์ความรู้สากล เปิดช่องให้สามารถผลิตยานั้นๆ ในชื่อ ‘สามัญ’ ได้

หากบริษัทต้องการจดสิทธิบัตรใหม่ จำเป็นต้องเป็นยาชนิดใหม่ หรือเป็นยาที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นของใหม่

ทว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทยาจะไม่ทำเช่นนั้น หากแต่มักจะเอายาเดิมไปเพิ่มเติมบางส่วน คล้ายๆ กับ ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ แล้วนำมาขอยื่นจดสิทธิบัตรใหม่ เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีคู่แข่งไปเรื่อยๆ

1

สำหรับยาเบดาคิวไลน์ ก็คล้ายคลึงกัน มีการขอสิทธิบัตรในประเทศไทยรวม 5 ฉบับ โดยฉบับแรกกำลังจะหมดอายุสิทธิบัตรลงในเดือนกรกฎาคม 2566

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศบนเว็บไซต์เพื่อ “ปฏิเสธคำขอ” รับสิทธิบัตรยาเบดาคิวไลน์ รวม 2 ฉบับเป็นที่เรียบร้อย

นั่นหมายความว่า ยังเหลืออีกเพียง 2 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่าดีใจที่กรมทรัพย์สินฯ ประกาศไม่รับจดสิทธิบัตรยาทั้ง 2 ฉบับ ด้วยเหตุผลที่คำขอนั้นขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตร ตามมาตรา 5 มาตรา 6 และ 7 ที่ไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น 

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า การยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายฉบับสำหรับยาชนิดเดียว เป็นกลวิธีขยายการผูกขาดระบบสิทธิบัตรที่อุตสาหกรรมยาต่างชาตินิยมใช้ เหมือนกับกรณีของสิทธิบัตรยาเบดาคิวไลน์ที่ได้ยื่นไว้ถึง 5 ฉบับในไทย โดยฉบับแรกได้รับสิทธิบัตรไปแล้วและกำลังจะหมดอายุสิทธิบัตรลงในเดือนกรกฎาคม 2566 

อีก 2 ฉบับเพิ่งถูกยกคำขอฯ ไปตามรายละเอียดข้างต้น ยังคงเหลืออีก 2 คำขอฯ ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกรมฯ ซึ่งทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยื่นคัดค้านไปแล้ว และหวังว่าจะถูกยกคำขอฯ ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้ายาเบดาคิวไลน์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคเชื้อดื้อยาภายในโครงการพิเศษของกรมควบคุมโรค ในราคาขวดละ 35,921 บาทสำหรับการรักษา 6 เดือน

ทั้งนี้ หากกรมฯ ปฏิเสธคำขอฯ ที่เหลือ ยาเบดาคิวไลน์ก็จะไม่มีสิทธิบัตรในไทย และจะสามารถนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงการรักษาด้วยยานี้มากขึ้น