ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การศึกษาล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่า 1 ใน 8 ของประชากรโลกเป็น "โรคอ้วน" พร้อมเรียกร้องให้นานาประเทศจัดบริการป้องกันและจัดการโรคอ้วนในระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

การศึกษาดังกล่าวเพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารเดอะแลนเซท (The Lancet) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 โดยเน้นย้ำถึงปัญหา "ภาวะทุพโภชนา" ทั่วโลก ที่ถึงแม้จะมีอัตราลดลงในภาพรวม แต่ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้

ภาวะทุพโภชนา หมายถึงการได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม อาจน้อยไปจนร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ร่างกายซูบผอม แคระแกร็น น้ำหนักน้อย ขาดวิตามินและแร่ธาตุ หรืออาจมากไปจนก่อให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักเกินมาตรฐาน

การศึกษาชิ้นดังกล่าวยังชี้ว่า ในปี 2565 มีประชากร 1,000 ล้านคนในโลกที่เป็นโรคอ้วน โดยในกลุ่มผู้ใหญ่มีผู้เป็นโรคอ้วนมากถึง 43% ซึ่งโรคอ้วนยังเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด

ทั้งนี้ อัตราส่วนผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานทั่วโลก มีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตั้งแต่ปี 2533 และเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี ขณะที่ภาวะขาดสารอาหาร ส่งผลให้ครึ่งหนึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตในปี 2565

ในส่วนประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคขาดสารอาหารและโรคอ้วนรวมกันสูงสุด คือ ประเทศหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกและแคริบเบียน และประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาเหนือ

“การศึกษาชิ้นนี้เน้นความสำคัญของการป้องกันและจัดการโรคอ้วน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิตจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผ่านการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอ” นพ.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลก กล่าว

“การควบคุมโรคอ้วนได้สำเร็จจำเป็นต้องมีการทำงานทั้งจากทางรัฐบาลและชุมชน โดยใช้นโยบายที่วางอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศได้เก็บรวมรวม ภาคเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางด้านสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาด้วย”

องค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่ซับซ้อน แม้สาเหตุของโรคเป็นที่ประจักษ์ และมีมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน ทั้งยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย

"การทำนโยบายที่ผ่านมายังมีความท้าทาย ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ถูกโภชนาการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการออกกำลังกายและวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ" นพ.ฟรานเชสโก บรังก้า (Francesco Branca) ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการและความปลอดภัยทางอาหารประจำองค์การอนามัยโลก กล่าว

"นานาประเทศควรสร้างระบบสุขภาพที่มีบริการป้องกันและจัดการโรคอ้วน เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ"

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกในปี 2565 สมาชิกองค์การอนามัยโลกจากทุกประเทศร่วมรับรองแผนหยุดโรคอ้วน ซึ่งสนับสนุนให้นานาประเทศดำเนินการด้านนี้จนถึงปี 2573 แต่มีรัฐบาลเพียง 31 ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการลดโรคอ้วน ด้วยปฏิบัติการดังนี้

  • สนับสนุนประชากรให้มีโภชนาการที่ดีตั้งแต่วันแรกเกิด เช่น ส่งเสริมการให้นมบุตร และป้องกันการรับสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์
  • ดูแลและกำกับการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อเด็ก
  • ทำนโยบายอาหารและโภชนาการในโรงเรียน เช่น ควบคุมการขายผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูงตามร้านค้าที่ใกล้โรงเรียน
  • ทำนโยบายทางการเงินและราคาที่ส่งเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ส่งเสริมการให้ข้อมูลทางโภชนาการบนฉลากอาหาร
  • ให้ความรู้กับสาธารณะในด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกาย
  • กำหนดมาตรฐานการออกกำลังกายในโรงเรียน
  • จัดบริการป้องกันและจัดการโรคอ้วนในบริการแพทย์ปฐมภูมิ

องค์การอนามัยโลกยังเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารต้องทำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะด้านการเกษตร การดูแลทางสังคม และสุขภาพ เพื่อลดความไม่มั่นคงด้านอาหาร เสริมการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและสุขลักษณะที่ดี และทำให้ประชาชนทุกคนมีมาตรการด้านการเข้าถึงสารอาหาร


อ้างอิง:  https://www.who.int/news/item/01-03-2024-one-in-eight-people-are-now-living-with-obesity