ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกเปิด 10 ความก้าวหน้าทางสุขภาพปี 2566 ชี้ระบบสุขภาพโลกในภาพรวมพัฒนาตัว เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นในหลายด้าน มีการริเริ่มใช้เทคโลโลยีดิจิทัล และผู้นำให้คำมั่นสัญญาใหม่ที่เน้นการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง 

แม้จะมีความท้าทายหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภับพิบัติที่มีแนวโน้มเพิ่มขี้น ความยากลำบากในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ หรือการเกิดโรคระบาด แต่องค์การอนามัยโลกย้ำว่าระบบสุขภาพในภาพรวมก็ยังเดินหน้าด้วยความสำเร็จหลายข้อตลอดปีที่ผ่านมา 

ความสำเร็จนี้มอบความหวังให้นานาประเทศ และเป็นเครื่องเตือนสติให้ไม่ละทิ้งความพยายามในการพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อให้ประชากรทุกเข้าเข้าถึงบริการถ้วนหน้า 

และนี่คือ 10 ความก้าวหน้าทางสาธารณสุขในปีนี้ 

1. นานาประเทศขจัดโรคติดต่อที่เป็นภัยคุกคามชีวิต
การขจัดโรคติดต่อเป็นไปอย่างก้าวหน้าในปีนี้ด้วยความร่วมมือของนานาประเทศ และการทำมาตรการป้องกันโรคภายในประเทศต่างๆ เช่นในกรณีของประเทศอาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน และเบลีซ ได้รับการประกาศให้เป็นประเทศปลอดโรคมาลาเรีย 

อิยีปต์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้รับสถานะสมาชิกองค์การอนามัยโลก “ระดับทองคำ” ที่สามารถทำมาตรการลดโรคไวรัสตับอักเสบบีอย่างมีประสิทธิผล และมีแนวโน้มขจัดโรคนี้จากประเทศได้ภายใน  7 ปีข้างหน้า 

ขณะที่บังคลาเทศสามารถขจัดโรคลิชมาเนีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะ และเมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง  95%   ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ขจัดโรคนี้ได้สำเร็จ  นอกจากนี้ ประเทศบังคลาเทศและลาวสามารถลดการแพร่ขยายของโรคเท้าช้างได้สำเร็จเช่นกัน จนสามารถนำโรคออกจากรายชื่อกลุ่มโรคเฝ้าระวังได้สำเร็จ 

1

2. การให้วัคซีนขยายตัว การพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ก้าวหน้า
แม้องค์การอนามัยโลกประกาศลดระดับภัยคุกคามโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. แต่การให้วัคซีนป้องกันโรคยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ข้อมูลในปลายเดือน พ.ย. ชี้ว่ามีประชากรโลก 72% ได้รับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเข็มเรียบร้อยแล้ว มีการให้วัคซีนไปแล้วมากกว่า 1,360 ล้านโดส 

ขณะที่การให้วัคซีนต้านโรคอื่นๆก็เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่หยุดชะงักในสภาวะวิกฤตโรคระบาด องค์การอนามัยโลกได้รับรองการใช้วัคซีนต้านมาลาเรียในประเทศแถบแอฟริกา และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวางแนวทางการให้วัคซีน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัววัคซีนต้านไข้เลือดออกอย่างเป็นทางการในปีนี้ รวมทั้งมี 30 ประเทศทั่วโลกที่ริเริ่มให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีกับกลุ่มเด็กสาว เช่น บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย ซึ่งมีอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกค่อนข้างสูง ส่งผลให้ปัจจุบันมี 140 ประเทศที่ประชากรสามารถเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้ 

3. เพิ่มความสามารถการเตรียมพร้อม และตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพ
หนึ่งในข่าวดีของปีนี้ คือการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง และเกิดการพัฒนากรอบการทำงานเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิก และจะนำไปสู่การทำมาตรการที่เป็นรูปธรรมในประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังสนับสนุนนานาประเทศรับมือกับสถานการณ์วิกฤตรวม 65 เหตุการณ์ในปีนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ 22 เหตุ รวมทั้งปัญหาสงครามที่กีดขวางการให้บริการสุขภาพในพม่า ยูเครน ซูดาน เอธิโอเปีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 

โดยองค์การอนามัยโลกได้เคลื่อนย้ายทรัพยากรเพื่อค้นหาและป้องกันโรคติดต่อในประเทศเหล่านี้ ยกระดับการให้บริการสาธารณสุข เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลท้องถิ่น อบรมบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค และพัฒนาห้องตรวจเชื้อ

ทางด้านภัยภิบัติ ปีนี้เกิดเหตุการณ์ในหลายประเทศ เช่น แผ่นดินไหวในอัฟกานิสภาน เนปาล และซีเรีย และน้ำท่วมรุนแรงในลิเบีย ปากีสถาน และซูดานใต้ องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนหน่วยแพทย์ฉุกเฉินลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับองค์การเครือข่ายกว่า 900 แห่ง เพื่อช่วยผู้ประสบภับมากกว่า 107 ล้านคนใน 29 ประเทศ 

4. 130 ประเทศรับรองปฏิญญาสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ
ในระหว่างการประชุม COP28 หรือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28  ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา มากกว่า 130 ประเทศร่วมรับรองปฏิญญาสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (COP28 UAE Declaration on Climate and Health) และให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องประชากรของตนจากภัยสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4

5. ยกระดับการป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ในปีนี้ ประเทศมอริเชียสและเนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริการและยุโรปตามลำดับ  ที่ใช้นโยบายการควบคุมยาสูบแบบเต็มรูปแบบตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันมีประชากร 5,600 ล้านคน หรือ 71% ของประชากรโลกที่ได้รับการปกป้องจากภัยสุขภาพที่เกิดจากยาสูบ ผ่านการใช้นโยบายอย่างน้อยหนึ่งข้อที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก 

ในส่วนของโรคความดัน พบหลายประเทศทำมาตรการยกระดับการป้องกันโรค เช่น อินเดียซึ่งริเริ่มมาตรการคัดกรองโรคความดันในปีนี้ วางเป้าหมายนำผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันและเบาหวานเข้าสู่การดูแลภายในปี 2568 ขณะที่ฟิลิปปินส์เริ่มขยายโครงการป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

6. จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง
การลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีความก้าวหน้าในปีนี้เช่นกัน พบมีจำนวนลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2553  ทั้งยังมี 10 ประเทศที่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่า 50% อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพโลกรับรองประกาศป้องกันการจมน้ำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ 194 ประเทศทั่วโลกต้องจัดทำมาตรการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ปัจจบัน คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 236,000 คนต่อปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี

7. การเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้น
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปี โครงการอนามัยเจริญพันธุ์มนุษย์ (Human Reproduction Programme) ของสหประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนงานวิจัยและการทำมาตรการส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาคุมกำเนิด การดูแลครรภ์ และการทำแท้งอย่างปลอดภัย 

การสำรวจในปีนี้พบว่าจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากภาวะตกเลือดหลังคลอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะการทำโครงการด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการเปิดตัวโรดแมปการลดผู้ที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาอีกด้วย 

นอกจากนี้ นานาประเทศยังให้คำมั่นสัญญาขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกจากประเทศของตน เช่น ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ซึ่งวางแผนขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นภายใน 10 และ 17 ปีข้างหน้าตามลำดับ หนึ่งในมาตรการหลักคือการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี  

8. เพิ่มการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ในปีนี้ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ กลายเป็นสามประเทศแรกในโลกที่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพจากหน่วยงานที่องค์การอนามัยโลกรับรอง สะท้อนความมุ่งมั่นของนานาประเทศในการยกระดับการผลิตยาและสินค้าสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกยังปรับปรุงรายการยาและการรักษาโรคที่จำเป็น (WHO Essential Medicines List ) โดยเพิ่มรายการยารักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและมะเร็ง ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาและรูปแบบการรักษาในโรคชนิดนี้ และต้องเข้าถึงได้โดยประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงรายการวินิจฉัยโรคที่จำเป็น ( Essential Diagnostics List)  โดยเพิ่ม 8 รายการใหม่ เช่น การตรวจโรคเบาหวานด้วยตัวเอง การตรวจระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง และการตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

4

9. นานาประเทศให้คำมั่นสัญญาใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพ ยกระดับบริการปฐมภูมิ
ในเดือน พ.ค. ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพโลกผ่านมติสุขภาพชนเผ่า ซึ่งระบุความจำเป็นที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในประชากรกลุ่มนี้ ทั้งยังมีการรับรอง “คำประกาศราบัต” ในเดือน มิ.ย. ซึ่งนานาประเทศให้คำมั่นสัญญาจะดูแลสุขภาพประชากรเคลื่อนย้าย รวมทั้งกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องพลัดพรากจากประเทศบ้านเกิดเพราะสงคราม 

ในเดือน ส.ค. องค์การอนามัยโลกและเครือข่ายร่วมจัดการประชุมการแพทย์ดั้งเดิมโลกเป็นครั้งแรก เพื่อหาแนวทางนำการแพทย์ทางเลือกเข้ามาใช้ดูแลสุขภาพประชาชน

ในเดือน ก.ย. ระหว่างการประชุมผู้นำระดับสูงแห่งสมัชชาสหประชาชาติ นานาประเทศได้รับรองคำประกาศทางการเมืองใหม่ ซึ่งวางเป้าหมายทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้วยการส่งเสริมการแพทย์ปฐมภูมิ นอกจากนี้ ยังมีการรับรองประกาศการเมืองเพื่อขจัดวัณโรคในระหว่างการประชุมเดียวกันนี้  

10. เปิดโครงการสุขภาพดิจิทัลในเดือน ต.ค. องค์การอนามัยโลกเผยแพร่แนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสุขภาพ เน้นการวางแนวทางกำกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เพื่อการรักษาและตรวจโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ เช่น การนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้อย่างผิดจริยธรรม และภัยคุกคามด้านไซเบอร์

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกและกลุ่ม G20 ร่วมประกาศโครงการสุขภาพดิจิทัลโลก ในระหว่างการประชุม G20 ซึ่งมีอินเดียเป็นประธาน โครงการดังกล่าวเน้นการจัดการเครือข่ายและแพลตฟอร์มที่ใช้ในการทำยุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัลในระหว่างปี 2563-2568 

องค์การอนามัยโลกยังร่วมมือกับสหภาพยุโรปทำโครงการใบรับรองโควิด-19 ดิจิทัล ใช้สำหรับการเดินทางข้ามประเทศในระว่างทำมาตรการควบคุมโรคระบาด  ซึ่งเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรทุกคน 

อ่านบทความต้นฉบับ: https://www.who.int/news-room/spotlight/global-health-achievements-2023