ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ได้เผยแพร่ตัวเลขแสดงสถานการณ์โรคมะเร็งทั่วโลก และการสำรวจสิทธิประโยชน์ด้านมะเร็งใน 115 ประเทศ

โดยในปี 2565 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 20 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 9.7 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่ในระยะเวลา 5 ปีหลังการวินิจฉัยพบเชื้อมะเร็ง มีอยู่ประมาณ 53.5 ล้านคน

โรคมะเร็งมีโอกาสเกิดขึ้นกับประชากร 1 ใน 5 คน ในเพศชายพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 1 ใน 9 คน และเพศหญิง 1 ใน 12 คน

ข้อมูลจาก Global Cancer Observatory ในปี 2565 ชี้ว่า มีมะเร็ง 10 จาก 36 ประเภทที่เป็นสาเหตุสาเหตุหลักของการเกิดผู้ป่วยรายใหม่และการเสียชีวิต เป็นอัตราส่วน 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก

มะเร็งปอดพบมากที่สุด ด้วยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 2.5 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 12.4% ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด ตามด้วยมะเร็งเต้านม (2.3 ล้านราย หรือ 11.6%) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (1.9 ล้านราย หรือ 9.6%) มะเร็งต่อมลูกหมาก (1.5 ล้านราย หรือ 7.3%) และมะเร็งกระเพาะอาหาร (970,000 ราย หรือ 4.9%)

มะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากมะเร็งมากที่สุดในโลก มีผู้เสียชีวิต 1.8 ล้านคน หรือ 18.7% ของการเสียชีวิตจากมะเร็งทั้งหมด ตามด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (900,000 คน หรือ 9.3%) มะเร็งตับ (760,000 คน หรือ 7.8%) มะเร็งเต้านม (670,000 คน หรือ 6.9%) และมะเร็งกระเพาะอาหาร (660,000 คน หรือ 6.8%) การขยายตัวของผู้ป่วยมะเร็งปอดน่าจะเกิดจาการใช้ยาสูบอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยเพศชายและหญิง มะเร็งปอดเป็นชนิดมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย ตามด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะที่มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด

มะเร็งเต้านมเป็นประเภทมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด ตามด้วยมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งปากมดลูกเป็นภัยคุกคามสำหรับผู้หญิงเช่นกัน จัดอยู่ในลำดับที่ 8 ของประเภทมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก และลำดับ 9 ของประเภทมะเร็งที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 661,044 ราย และผู้เสียชีวิต 348,186 ราย ในปี 2565

มะเร็งปากมดลูกยังเป็นประเภทมะเร็งที่พบมากใน 25 ประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา อย่างไรก็ดี มะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันได้ผ่านการขยายมาตรการอย่างการฉีดวัคซีนต้านเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านโรคมะเร็ง

นอกจากจะเป็นภัยต่อสุขภาพแล้ว มะเร็งยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

เช่นในกรณีของมะเร็งเต้านม ประเทศที่มีค่าดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์สูง ส่วนมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประชากรจะสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรคได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ 1 ใน 12 ของผู้หญิงได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรค และ 1 ใน 71 ของผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรค

แต่ในประเทศที่มีค่าดัชนี้ชี้วัดการพัฒนามนุษย์ต่ำ มีเพียง 1 ใน 27 ของผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมและ 1 ใน 48 ผู้หญิงเสียชีวิตจากโรค

"ผู้หญิงในประเทศที่มีค่าดัชนี้ชี้วัดการพัฒนามนุษย์ต่ำ มีโอกาสได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมน้อยกว่าครึ่งของผู้หญิงในประเทศที่มีค่าดัชนี้ชี้วัดการพัฒนามนุษย์สูง ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคอีกด้วย เพราะได้รับการวินิจฉัยช้า และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพเพียงพอ" พญ.อิซซาเบล โซเอนจอมาทีเรียม (Isabelle Soerjomataram) รองหัวหน้าฝ่ายสืบสวนมะเร็ง ประจำ IARC กล่าว

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกทำการสำรวจสิทธิประโยชน์สุขภาพในประเทศต่างๆ พบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการให้บริการด้านมะเร็งค่อนข้างสูง มีเพียง 39% ของประเทศสมาชิกมีระบบสุขภาพที่ครอบคลุมการจัดการมะเร็งภายใต้สิทธิประโยชน์ที่เข้าถึงได้โดยประชากรทุกคน และมีเพียง 28% ของประเทศสมาชิกที่จัดระบบการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

บริการที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดมีแนวโน้มบรรจุเข้าสิทธิประโยชน์ในประเทศที่มีรายได้สูง มากกว่าประเทศรายได้ต่ำ 4-7 เท่า เช่นเดียวกับบริการฉายรังสีที่ประเทศรายได้สูงบรรจุสิทธิประโยชน์นี้มากกว่า 4 เท่า และบริการปลูกเสตมเซลล์ 12 เท่า

"การสำรวจนี้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำ และการขาดความคุ้มครองทางการเงินในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำที่ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาโรคมะเร็งขั้นพื้นฐาน" นพ.เบนเต มิกเคิลเซน (Bente Mikkelsen) ผู้อำนวยการฝ่ายโรคไม่ติดเชื้อ ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าว

"เรากำลังทำงานอย่างหนักร่วมกับรัฐบาลมากกว่า 75 ประเทศ เพื่อพัฒนานโยบายสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ทุกคนเข้าถึงได้ การลงทุนในบริการด้านนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ”

ผู้ป่วยมะเร็งพุ่งในอีก 25 ปีข้างหน้า

ในปี 2593 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 77% จากจำนวนผู้ป่วย 20 ล้านรายในปี 2565 แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งจะก่อให้เกิดภาระกับประเทศ และสะท้อนการแพร่กระจายของปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอย่างบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคอ้วน และมลพิษทางอากาศ

ในกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง หรือกลุ่มแระเทศรายได้สูง คาดการณ์ว่าอัตราการเป็นโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอีก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 4.8 ล้านรายในปี 2593 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในปี 2565

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำและปานกลาง เพิ่มขึ้นถึง 142% และ 99% ตามลำดับ ขณะที่การเสียชีวิตจากมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในกลุ่มประเทศนี้

"แต่ละประเทศจะรับรู้ผลกระทบจากอัตราการเป็นโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกัน ประเทศที่มีทรัพยากรน้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด" นพ. เฟรดดี้ เบรย์ (Freddie Bray) หัวหน้าฝ่ายสืบสวนมะเร็งประจำองค์กร IARC

ด้าน นพ.แครี อดัม (Cary Adams) หัวน้าสหภาพควบคุมมะเร็งนานาชาติ (Union for International Cancer Control) ให้ความเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกได้ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ

“สถานที่ที่เกิดไม่ควรกำหนดความเป็นความตายของคน ตอนนี้เรามีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้รัฐบาลกำหนดนโยบายการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง และเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการให้คำมั่นสัญญาทางการเมืองด้วย.

 

อ้างอิง: https://www.who.int/news/item/01-02-2024-global-cancer-burden-growing--amidst-mounting-need-for-services