ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผย 3 ปี ความร่วมมือ สธ. อปท.จัดตั้ง “กองทุนดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ LTC” ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต่อเนื่อง ปี 2561 มีผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลในระบบเกินเป้า 2.11 แสนราย พร้อมเดินหน้าต่อปี 62 รัฐหนุนงบประมาณกว่า 918 ล้านบาท ตั้งเป้าดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ในระบบกว่า 1.5 แสนราย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 อัตราประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมาและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มี อปท.ที่สนใจและเข้าร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 5,639 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75 ของ อปท.ทั่วประเทศ และ กทม. เข้าร่วมในปี 2560 โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2559 มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลในระบบบ จำนวน 80,826 คน ปี 2560 มีจำนวน 175,353 คน และปี 2561 เพิ่มเป็นจำนวน 211,138 คน รวมผู้สูงอายุฯ ที่อยู่ในระบบทั้งรายเก่าและรายใหม่ในแต่ละปี ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ สปสช.ได้ตั้งไว้

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ปี 2562 นี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 916.8 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยมีเป้าหมายจำนวน 152,800 คน ในจำนวนนี้ สปสช.ได้จัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายให้หน่วยบริการประจำในพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการจำนวน 150 ล้านบาท หรือหน่วยบริการละ 100,000 บาท งบเหมาจ่ายให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ร่วมดำเนินการ จำนวน 741 ล้านบาท จ่ายเป็นอัตราเหมาจ่ายจำนวน 5,000 บาท/คน/ปี และงบสนับสนุน กทม.ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่จำนวน 25 ล้านบาท