ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 31 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทริปนำผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการเจ้าฟ้ามหิดลจากประเทศต่างๆ กว่า 20 คน จาก 20 ประเทศ ลงพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาดูงานการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังภายใต้การบูรณาการความร่วมมือจากหลายเครือข่าย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC)

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการเจ้าฟ้ามหิดลได้เข้าเยี่ยมเทศบาลเมืองบ้านสวนเพื่อรับฟังแนวทางการบูรณาการการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงของเทศบาล โรงพยาบาลชลบุรี และทีมหมอครอบครัว หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ดูงานคลินิกหมอครอบครัวศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองชลบุรี จากนั้นดูงานโรงเรียนผู้สูงอายุซึ่งนำการรำไทยมาเป็นกิจกรรมออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ แล้วจึงลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพื่อศึกษาการทำงานของทีมหมอครอบครัว และ Care Giver

นายจักรวาล ตั้งประกอบ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวน กล่าวว่า ก่อนที่จะมีงบประมาณจากกองทุน LTC ทางเทศบาลทำโครงการเยี่ยมบ้านเยี่ยมใจงบประมาณจากการทุนหลักประกันสุขภาพตำบลที่ร่วมกับ สปสช. แต่การดูแลจะไม่มีรูปแบบที่เป็นทางการ เน้นไปที่ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี เช่น เด็กที่พิการแขนขาลีบเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

อย่างไรก็ดีหลังจากปี 2559 มีโครงการ LTC เกิดขึ้น ทาง สปสช.เขต ได้เชิญชวนเทศบาลเมืองบ้านสวนให้นำร่องทำโครงการนี้ โดยในปีแรกทางสาธารณสุขอำเภอได้ทำการอบรมอาสาสมัครผู้ดูแลหรือที่เรียกว่า Care Giver ซึ่งประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และญาติผู้ป่วย นำมาอบรมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงเพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้ ขณะที่โรงพยาบาลชลบุรีได้ส่งพยาบาลมาช่วยเป็น Care Manager วางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านสวน ทำให้มีการดูแลที่เป็นรูปแบบมากขึ้น มีการกำหนดผู้ป่วยเป็นหลายระดับ ระดับแรกคือผู้ป่วยที่สมองดี ไม่เจ็บป่วยมากมาย ระดับที่ 2 อาจจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ขณะที่ระดับที่ 3 และ 4 คือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีภาวะสับสนทางสมอง เป็นภาระกับญาติไม่สามารถเอาเวลาปกติไปทำงานได้

นายจักรวาล กล่าวอีกว่า เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาก็ทำให้ญาติมีเวลาทำมาหากิน สามารถใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดย Care Giver จะเป็นผู้ดูแลตามแผนการรักษาที่ Care Manager วางไว้ มีการถ่ายรูปรายงานผล เพื่อติดตามดูค่า ADL (Barthel Activities of Daily Living) หรือความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันว่าดีขึ้นขนาดไหน ถ้าผู้ป่วยมีค่า ADL 11 ขึ้นไปถือว่าดี แต่ถ้าต่ำกว่า 11 ถือว่าแย่ ต้องทำให้ดีขึ้น และหลังจากดูแลตาม Care Plan จนอาการดีขึ้นแล้ว ทางเทศบาลก็ใช้งบจากกองทุนสุขภาพตำบลเพื่อดูแลสุขภาพในเรื่อง 3 อ. 2 ส. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ดี และ งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ต่อไป เพื่อรักษาค่า ADL ที่ดีขึ้นแล้วให้สม่ำเสมอไม่ลดลงมาอีก เนื่องจากก่อนหน้านี้พบปัญหาว่าเมื่อไม่ได้เข้าไปดูแลต่อเนื่อง ค่า ADL ก็ลดลงอีก

นายจักรวาล กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านสวนมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงจำนวน 53 คน ส่วนมากเป็นระดับที่ 3 และ 4 ถือว่าอาการหนักแล้ว ส่วนมากจะเสียชีวิต แต่ด้วยการจัดบริการที่ดีก็ทำให้คนกลุ่มนี้มีศักดิ์ศรีมากขึ้น เข้าถึงบริการของภาครัฐได้มากขึ้น 

นายจักรวาล กล่าวว่า แนวคิดของตนมีนโยบายว่าคนกลุ่มนี้ถือเป็นคนในท้องถิ่น เทศบาลจะพยายามดูแลให้มากที่สุด แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องที่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายวัสดุและกายอุปกรณ์จากกองทุน LTC ได้ แต่เทศบาลก็ไม่มีนโยบายไปเบียดบังค่าตอบแทนของ Care Giver มาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสิ่งจำเป็นในการดูแลผู้ป่วย อาทิ ผ้าอ้อมสำรับผู้ใหญ่ เป็นต้น หรือในส่วนของกายอุปกรณ์ก็เป็นปัญหาว่าเบิกไม่ได้ ทางเทศบาลก็เตรียมทำโครงการธนาคารกายอุปกรณ์ จัดซื้อเตียง ไม้เท้า ฯลฯ มาให้ผู้ป่วยหมุนเวียนกันใช้งานโดยทำบัญชีเบิกจ่ายอุปกรณ์ให้ชัดเจน

ด้าน นางฤทัย เนินผา Care Giver ตำบลบ้านสวน กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ Care Giver ในขั้นแรกจะมาเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพร้อมทีมสหวิชาชีพเพื่อแนะนำตัวว่าต่อไปนี้จะมาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยในบ้าน รวมทั้งต้องสานสัมพันธไมตรีกับคนในครอบครัว สร้างความไว้วางใจเหมือนคนในครอบครัว สามารถพูดคุยปัญหาได้ทุกเรื่องทั้งปัญหาสุขภาพ สุขภาพจิต กายภาพบำบัด ฯลฯ

"ในการทำงานก็สอนทำกายภาพบำบัด ตรวจเช็คความสม่ำเสมอในการรับประทานยา ติดตามพัฒนาการหลังจากทำกายภาพบำบัด วัดค่า ADL เป็นระยะๆ ถ้ามีอาการแทรกซ้อนเราก็มีไลน์กลุ่ม Care Giver ส่งปัญหาให้พี่เลี้ยงเพื่อขอคำแนะนำ แต่ถ้าเป็นหนักมากก็จะยกกันมาทั้งทีม มีแพทย์มาด้วย ไม่ต้องเอาคนไข้ไปโรงพยาบาล"

ปัจจุบันนางฤทัยมีผู้ป่วยในการดูแล 4 ราย แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 2 ราย และผู้ป่วยทั่วไปอีก 2 ราย ในช่วงแรกหากผู้ป่วยเพิ่งออกจากโรงพยาบาลก็จะมาเยี่ยมสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ก็มาสัปดาห์ละครั้ง

"การเป็น Care Giver คล้ายกับ อสม. แต่จะดูแลในรายละเอียดลงลึกมากกว่า เราดูแลเหมือนเป็นญาติ ผูกพันกัน มีอะไรก็นึกถึงกัน วันนี้หนาวแล้วมีผ้าห่มหรือยัง มีโลชั่นทาผิวหรือยัง พอไม่เจอกันก็คิดถึงกัน ทั้งเขาคิดถึงเราและเราคิดถึงเขา" นางฤทัย กล่าว

ขณะที่ นางสุคนธ์ เส็งสมาน หนึ่งในผู้ป่วยติดเตียงภายใต้การดูแลของนางฤทัย กล่าวว่า เมื่อ 3-4 เดือนก่อน ตนมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ไม่สามารถขยับเขยื้อนแขนร่างกายซีกซ้ายได้ พูดไม่ได้ แต่ด้วยการดูแลของ Care Giver ซึ่งมาสอนทำกายภาพ วัดความดัน เช็กอาการอย่างสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งเอาข้าวเอาน้ำมาให้ ก็ทำให้ปัจจุบันอาการดีขึ้น สามารถพูดได้ ลุกนั่งเองได้ สามารถอยู่บ้านคนเดียวได้ ญาติแค่เตรียมอาหารแล้วก็ออกไปทำงานได้

นาย Heiloni Latu Senior Assistant DCEO - Commercial Customs Division ของราชอาณาจักรตองกา หนึ่งในผู้มาดูงานในครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับการจัดระบบบริการของประเทศไทยมาก โดยเฉพาะการเน้นการป้องกันโรค สอนเรื่องสุขภาพตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนและไม่ทิ้งผู้เจ็บป่วยไว้ข้างหลัง รู้ดีใจที่คนไทยได้รับการดูแลที่ดีและอยากให้ประเทศของตนเป็นแบบนี้เช่นกัน

ขณะที่ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สิ่งที่ สปสช.พยายามสื่อสารกับผู้มาศึกษาดูงาน คือการพูดคุยให้เข้าใจว่าบริบทของประเทศไทย มี สปสช. ดูแลเงินจากรัฐบาลกลาง ขณะที่ท้องถิ่นมีพื้นที่รับผิดชอบและมีเงินของตัวเองส่วนหนึ่ง การจัดระบบหลักประกันสุขภาพสุขภาพ จะมีส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดย สปสช.แบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงขันร่วมกับท้องถิ่น ในลักษณะ Matching Fund ซึ่งตอนเริ่มต้นยอมรับว่าท้องถิ่นไม่เข้าใจแนวคิดนี้ นึกว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของหมอและโรงพยาบาล สปสช.ต้องทำความเข้าใจว่าเนื่องจากหมอและโรงพยาบาลอยู่ห่างไกล ไม่เหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า ได้รับฟังปัญหาต่างๆ จากคนในพื้นที่เป็นประจำ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือกองทุนนี้ไม่ใช่งบสำหรับการรักษาแต่เป็นงบสำหรับการป้องกัน เช่น จะออกกำลังกายอย่างไร จะดูแลอาหารการกินอย่างไร ทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี

"ช่วงแรกๆ ก็ถือว่ายาก แต่ปัจจุบันดีขึ้นมาก ตัวอย่างเช่นเทศบาลเมืองบ้านสวน เมื่อผู้นำท้องถิ่นเข้าใจว่างบประมาณนี้ใช้อย่างไร เขาใกล้ชิดชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะบอกว่าอย่างทำเรื่องไหนบ้าง เขาก็เริ่มเดินหน้า และจริงๆ แล้วท้องถิ่นยังมีงบอีกหลายส่วนที่ช่วยทำให้การส่งเสริมสุขภาพดีขึ้นอีก เช่น การดูแลบ้านเรือนให้เหมาะสม การดูแลขยะ เรื่องเหล่านี้อาจใช้เงินกองทุนสุขภาพตำบลไม่ได้ ก็ต้องใช้เงินอื่นๆ มาช่วย แต่มันเป็นส่วนที่เสริมกัน ขณะเดียวกันท้องถิ่นก็มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน อยู่ใกล้ชิดปัญหาประชาชน ทำดีให้ชาวบ้าน ชาวบ้านได้ประโยชน์ ท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์ด้วย" นพ.ประจักษวิช กล่าว

นพ.ประจักษวิช กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ เข้าใจว่าตัวแทนจากหลายประเทศคงเริ่มคิดแล้วว่าแทนที่จะคิดเรื่องการรักษาอย่างเดียว หรือส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเดียว ต้องออกไปทำมากกว่านั้น คือต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชน อย่างไรก็ดีด้วยรูปแบบการปกครองและการดูแลสุขภาพของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะนำตัวอย่างจากประเทศไทยไปใช้ก็คงต้องปรับปรุงให้ตรงกับบริบทของตัวเองอีกครั้ง