ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาเชื่อมต่อระบบโปรแกรมการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) ด้วยโปรแกรม Long Term Care 3 C ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ร่วมในพิธี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2562 นั้น รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง จำนวน 200,000 คน และสนับสนุนให้ดำเนินการโครงการ Long Term Care ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยพัฒนาอบรมฟื้นฟูผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (Care manager) และเพิ่มศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) สำหรับโปรแกรม Long Term Care 3 C ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ใช้ข้อมูลแหล่งเดียวกัน ที่สำคัญคือ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหา การวางแผนการดูแลผู้สูงอายุในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานในการจัดทำระบบรายงานและการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม

ด้าน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า Care manager และ Caregiver ในระดับพื้นที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายจากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดภาระงานและความซ้ำซ้อนของข้อมูล ดังนั้น กรมอนามัย สปสช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้พัฒนาโปรแกรม Long Term Care 3 C : Care manager, Caregiver, Care Plan โดยให้ทุกจังหวัดอบรมการใช้โปรแกรมการขึ้นทะเบียน Care manager และ Caregiver การจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care Plan) และการพัฒนาลงรหัสการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care Plan Mode) ทำให้ระบบการทำงานคล่องตัวขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาการจัดทำ Care Plan และการรายงานข้อมูล ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ในลักษณะของการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงดีขึ้น สามารถลุกจากเตียงไปสู่สังคมได้ ตั้งเป้าให้เกิดภาพเช่นนี้กับประชาชนทั่วทุกตำบล เป็นการจัดระบบบริการใหม่นอกจากโรงพยาบาลมาเป็นในชุมชน เกิดเป็นการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลไกความร่วมมือนอกจากระบบการตรวจสอบสิทธิที่นำไปสู่การลงทะเบียนเรื่องระบบบริการแล้ว ยังมีโปรแกรมนี้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ลดงานธุรการลงเพื่อให้มีเวลาในการทำงานบริการโดยตรงกับประชาชนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น